ดอลลาร์อ่อนค่า เทียบสกุลเงินหลัก หลังมูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐ

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังมูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐ จากระดับ Aaa ลงมาอยู่ที่ Aa1 เหตุผลจากหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/05) ที่ระดับ 33.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/05) ที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลง 2.7% สู่ระดับ 50.8 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 และป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากระดับ 52.2 ในเดือน เม.ย.

โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อจากมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 7.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน เม.ย.ที่ระดับ 6.5%

นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6% ในช่วง 5 ปีข้างหน้าและสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน เม.ย.ที่ระดับ 4.4%

ในขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างละ 0.1% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการชะลอตัวลง โดยการปรับตัวขึ้นของดัชนีราคานำเข้าและส่งออกนั้น ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของราคาสินค้าทุน ขณะที่ราคาพลังงานปรับตัวลง

นอกจากนี้ มูดี้ส์ เรทติ้ง (Moody’s Ratings) ได้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐ จากระดับ Aaa ลงมาอยู่ที่ Aa1 เมื่อวันศุกร์ (16/05) โดยให้เหตุผลว่า หนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น และภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็เพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้ง มูดี้ส์ ไม่เชื่อว่าแผนงบประมาณปัจจุบันจะสามารถลดการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือการขาดดุลงบประมาณได้อย่างมากในระยะยาว

ADVERTISMENT

โดยในช่วง 10 ปีข้างหน้า มูลดี้ส์คาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้ เนื่องจากการใช้จ่ายสำหรับโครงการสวัสดิการต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของรัฐบาลยังคงอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม ทั้งนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐอาจขึ้นแตะระดับ 135%

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชยสหรัฐเปิดเผย ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.6% สู่ระดับ 1.361 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.360 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 4.7% สู่ระดับ 1.412 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.450 ล้านยูนิต

โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ย “โดยเร็ว อย่าช้า” พร้อมตำหนิประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ที่อยู่เฉยไม่ดำเนินการอะไร ทั้งนี้ ทรัมป์ยังคงแสดงความไม่พอใจต่อพาวเวลล์ โดยถึงแม้ว่าเขาไม่ได้ดึงดันที่จะปลดพาวเวลล์จากตำแหน่ง และยืนยันว่าประธานเฟดจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป และถึงแม้ทรัมปเชื่อว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้ว แต่เขาต้องการให้พาวเวลล์ “กระตือรือร้นมากกว่านี้” ในเรื่องการลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าวเมื่อวันเสาร์ (17 พ.ค.) ว่า เขาจะพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ในวันนี้ เพื่อผลักดันข้อตกลงหยุดยิงระหว่างทั้งสองประเทศ

ด้านปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผย ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาส 1/68 ขยายตัว 3.1% จากตลาดคาดโต 2.9-3.1% ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรชะลอลง ขณะที่การผลิตภาคเกษตรเร่งขึ้น ด้านการใช้จ่ายการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลการนำเข้าสินค้าและบริการ และการสะสมทุนถาวรเบื้องต้นชะลอลง ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวเร่งขึ้น

นอกเหนือจากนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/68 ยังเติบโตได้ดีในระดับ 3.1% นั้นเป็นผลจากการที่ประเทศคู่ค้าต่างเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐ จึงทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดี และมีผลช่วยให้ GDP ไตรมาสแรกปีนี้เติบโตสูง

แต่ทั้งนี้ในช่วงถัดไปคือไตรมาส 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจไทยอาจชะอตัวลงได้ อันเนื่องจากความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจโลก และการค้าโลก พร้อมเชื่อว่าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับ นายเจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีด้านการค้าของเอเปค ประจำปี 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค. และได้หยิบยกประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มุ่งส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐ ภายใต้กรอบความร่วมมือที่สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

พร้อมย้ำถึงบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย โดยข้อเสนอของไทยได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากฝ่ายสหรัฐ โดยเฉพาะจากนายสก็อตต์ เบสเซนต์ (Mr.Scott Bassent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.03-33.29 บา/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/05) ที่ระดับ 1.1182/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตฃาดเมื่อวันศุกร์ (16/05) ที่ระดับ 1.1193/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยในวันศุกร์ (16/05) ว่า ยูโรโซนมียอดเกินดุลการค้าในเดือน มี.ค. อยู่ที 3.687 หมื่นล้านยูโร เพิ่มขึ้นจาก 2.28 หมื่นล้านยูโร ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจาก 2.40 หมื่นล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า การส่งออกสินค้าจากยูโรโซนไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในเดือน มี.ค. มีมูลค่าอยู่ที่ 2.798 แสนล้านยูโร เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 2.43 แสนล้านยูโร เพิ่มขึ้น 8.8% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1167-1.1277 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1274/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/05) ที่ระดับ 145.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/5) ที่ระดับ 145.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายชินอิจิ อุจิดะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวจากผลกระทบภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าของแต่ละประเทศนั้นสูงมาก ดังนั้น BOJ จะตัดสินใจโดยพิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า เศรษฐกิจและราคาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารหรือไม่ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 0.2% ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรกในรอบหนึ่งปี และแย่แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.1%

นอกจากนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี GDP ไตรมาสแรกหดตัวลง 0.7% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบสี่ไตรมาส และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.2% โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.64-145.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 144.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. (ประมาณการครั้งสุดท้าย) ยูโรโซน (19/5), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน เม.ย./เยอรมนี (20/5), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก แลดุลการค้าเดือน เม.ย.ญี่ปุ่น (21/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค. จาก Jibun Bank ญี่ปุ่น (22/5),ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค. จาก HCOB ยูโรโซน (22/5),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (22/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค. จาก S&P Global สหรัฐ (22/5), ยอดขายบ้านมือสองเดือน เม.ย. สหรัฐ (22/5), อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ญี่ปุ่น (23/5), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2568 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) เยอรมนี (23/5), ยอดขายบ้านใหม่เดือน เม.ย. สหรัฐ (23/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.5/-8.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7/-5.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ