
ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ใกล้จะครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 5 ส.ค. 2568 หรือเริ่มนับถอยหลังอีกเพียง 100 วัน โดยจะได้ต่อวาระหรือไม่
จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด ก.ล.ต.) ที่จะประชุมแต่งตั้งบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ ในเดือน ก.ค.นี้ หากได้ต่อวาระก็ต้องลุ้นว่าบอร์ด ตลท.จะมีมติเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไปหรือไม่ ซึ่งในแง่ความอาวุโสก็ถือว่าผ่าน เพราะเคยเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯมาแล้ว 3 สมัย
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯจัดงาน Meet the Press ให้สื่อมวลชนร่วมพูดคุยกับ “ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์” หลังดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯมาครบ 1 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
เข้ามายุค “วิกฤตตลาดหุ้น”
“ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์” เล่าว่า เข้ามารับตำแหน่งในช่วงตลาดหุ้นผันผวนหนัก ตอนนั้นดัชนีหุ้นไทยต่ำสุดลงไป 1,100 จุด เจอวิกฤตหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะปัญหาการฉ้อโกง อาทิ MORE, STARK รวมไปถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมในการซื้อขายหุ้น ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจ ทำให้บทบาทหน้าที่หลักตอนนั้นคือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับมา (Trust and Confidence)
ซึ่งก็เข้ามาปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขายและคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อให้นักลงทุนมีความเท่าเทียมกันให้มากที่สุด เช่น เรื่องชอร์ตเซล มีกฎกติกาไม่ให้มี Naked Short และกำหนดต้องมีหุ้นในมือถึงจะทำชอร์ตเซลได้ และปัจจุบันกำลังเสนอให้ชอร์ตเซลทำได้เฉพาะหุ้น SET100 เท่านั้น เพื่อจะไม่ให้กระเทือนถึงนักลงทุนรายย่อย
รวมทั้งออกเกณฑ์ Dynamic Price Band, Uptick, การขึ้นทะเบียน HFT และปรับปรุง Co-location นอกจากนั้นยังมีการปรับเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติบริษัทเข้า SET และ mai และแยกประเภทการขึ้นเครื่องหมาย C เพื่อให้นักลงทุนได้ข้อมูลที่เร็วและถูกต้อง และริเริ่มประยุกต์ใช้ AI ทั้งกระบวนการตลาดทุน
เกณฑ์ใหม่ซื้อหุ้นคืน
และมาตรการใหม่ที่ใกล้สำเร็จแล้วคือ เงื่อนไขใหม่เรื่องการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยจะปลดล็อก 1.ยกเลิกระยะเวลาพักคอย จากเดิมกำหนดให้การซื้อหุ้นคืนตามโครงการใหม่จะทำได้เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน แต่ต่อไป บจ.สามารถทำโครงการใหม่ได้ทันที และ 2.ขยายระยะเวลาการขายหุ้นคืนเพิ่มเป็น 5 ปี (ต่อได้ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง) จากเดิมที่กำหนดต้องขายให้หมดใน 3 ปี เพื่อช่วยให้ บจ.บริหารจัดการขายหุ้นที่ซื้อคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ยอดซื้อหุ้นคืนช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มี บจ.ที่ซื้อหุ้นคืนรวม 37 บริษัท มูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเท่ากับมูลค่าทั้งปี 2567 ไปแล้ว ซึ่งแนวทางนี้ทำให้หุ้นมี P/E และ P/BV ดีขึ้น
ส่วนโครงการ Jump+ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ บจ.จะเริ่มดำเนินการได้ มิ.ย.นี้ โดยมีบริษัทเป้าหมาย 50-100 บริษัทนำร่อง รวมถึงแผนผลักดันการออมและลงทุนผ่านโครงการ Thailand Individual Saving Account หรือ TISA โดยให้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีเงินปันผล ซึ่งตอนนี้กำลังพูดคุยกับ ก.ล.ต. หารูปแบบที่เหมาะสมอยู่
ศึกษาตั้งกระดานเทรดหุ้นใหม่
“ประธานบอร์ดตลาดหุ้น” กล่าวอีกว่า เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว และเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ในการดึงเสน่ห์ตลาดหุ้นไทยกลับคืนมา ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังศึกษาการแยกกระดานเทรดหุ้นใหม่ขึ้นมาเหมือนโมเดลต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการระดมทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New Economy) ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
โดยตามแผนจะเอา บจ.ที่ทำเรื่อง New Economy ย้ายมาอยู่ที่กระดานใหม่ทั้งหมด โดยมุ่งเป้ากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาขอสิทธิประโยชน์ BOI ในไทยให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยไม่ต้องรอมีกำไร 3 ปี และพร้อมจะสนับสนุนในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม
ขณะที่ยังมีแผนผลักดันบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการ Spin-Off บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่ม ปตท., กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย, กลุ่ม WHA เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวเข้ามาจดทะเบียนมาดยิ่งขึ้น
“ผมต้องการเห็นจำนวน บจ.มีมากกว่านี้จาก 800 บริษัทเพิ่มเป็น 1,000-1,500 บริษัท น่าจะเหมาะสมอิงกับจำนวนบริษัทที่เสียภาษีในประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 1 แสนบริษัท”
หนุน บล.ควบรวมกิจการ
และยังมีแนวความคิดสนับสนุนการควบรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง จากผลกระทบสงครามการค้า จากปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 39 แห่ง ให้ลดเหลือเพียง 18 แห่ง หรือลดลง 50% เนื่องจากช่วง 1-2 ปีมานี้ บล.กว่าครึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุน เนื่องจากสภาพตลาดหุ้นที่ผันผวนและปริมาณการซื้อขายที่ต่ำลงมาก ซึ่งการจูงใจอาจเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น การลดค่าธรรมเนียม
ชงแก้กฎหมายปฏิรูปตลาดทุน
สุดท้ายคือการวางรากฐานกฎหมายตลาดทุน ผลักดันแก้ไขกฎหมายในรูปแบบ Omnibus Law โดยจะเสนอคอนเซ็ปต์แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยทีเดียวจำนวน 10 ฉบับ ภายใต้ พ.ร.บ.ปฏิรูปตลาดทุนไทย
“ก็หวังว่าแผนงานที่จะทำร่วมกับกระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต.ต่อไปนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯจะขับเคลื่อนให้ดีที่สุด เพราะต้องการพัฒนาตลาดหุ้นเพื่อทุกคน ดังนั้นแผนงานที่เราทำมา และทำอยู่ ยังคงต้องทำต่อไป”