
คปภ.นัดประชุมหารือธุรกิจประกันชีวิต ขอความร่วมมือช่วยอุ้มประกันสุขภาพเด็ก “โตเกียวมารีน” เล็งออกสินค้าใหม่ไตรมาส 3/68 กำหนดให้มีวงเงินรับผิดชอบส่วนแรกหรือ Deductible ประมาณ 10,000-20,000 บาท เพื่อให้พ่อแม่พิจารณาก่อนนำเด็กเข้าโรงพยาบาลในกรณีไม่รุนแรง และทำให้เบี้ยประกันถูกลง พร้อมประเมินภาพรวมตลาดประกันชีวิตปีนี้ ครึ่งปีหลังเจอ “เผาจริง” โอกาสโตเริ่มยาก สัญญาณยอดขายประกันผ่านแบงก์แผ่ว เหตุกำลังซื้อลดผลจากภาวะเศรษฐกิจ
ดร.สมโพชน์ เกียรติไกรวัล ประธานที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการและสายงานตัวแทน บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เรียกประชุมบริษัทประกันชีวิตทุกแห่ง ขอความร่วมมือให้กลับมาขายประกันสุขภาพเด็กอีกครั้ง ตามคำเรียกร้องของประชาชน หรือเพิ่มสัดส่วนการรับประกันเด็กจำนวนมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง

ซึ่งในที่ประชุมทางบริษัทประกันเห็นว่า “รับมากเจ๊งมาก” เพราะข้อเท็จจริงไม่เป็นไปตามทฤษฎี ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิตเป็นหนึ่งในบริษัทที่รับประกันสุขภาพเด็กอยู่จำนวนมาก ต้องจ่ายเคลมสินไหมไปมากกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัญหานี้ทำให้บริษัทขาดทุนหนัก จนกระทั่งสำนักงานใหญ่มีคำสั่งให้หยุดขายประกันสุขภาพเด็กแก่ลูกค้าใหม่ไป
“กำไรที่เรามีมาปีสองปีต้องจ่ายเคลมเกลี้ยง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพอเราขาดทุนเราก็พยายามไปขอ คปภ.เพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพเด็ก เพื่อจะรับประกันสุขภาพเด็กต่อไป ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติค่อนข้างยาก แต่พอ คปภ.อนุมัติให้แล้ว เราก็โดนลูกค้าต่อว่าอีก หาว่าเราไปเพิ่มเบี้ยเขา จึงอยากให้เข้าใจด้วย เพราะปัจจุบันนี้โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาแพงมากและสูงขึ้นทุกปี” ดร.สมโพชน์กล่าว
ทั้งนี้ หากจะหาทางออกร่วมกัน ในที่ประชุมมีการเสนอว่า คปภ.ควรเป็นเจ้าภาพนัดหมายสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาหารือ เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับมาตรฐานค่ารักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Diseases) สำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงจริง
เพราะปัจจุบันนี้ค่าเฉลี่ยของการเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยของเด็ก เช่น เป็นหวัด ปวดท้อง หรือมีไข้ สูงถึงเคสละ 30,000 บาท และหากพบว่าเด็กมีการทำประกันค่ารักษาพยาบาลจะแพงกว่าไม่มีประกันด้วย และบางครั้งโรงพยาบาลก็พยายามหาทางให้เด็กแอดมิต ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ขอให้คิดค่ารักษาอย่างเป็นธรรม
และปัญหาอีกส่วนคือการขาดความร่วมมือกันระหว่างบริษัทประกัน รวมถึงการตลาดของโรงพยาบาลที่อาจหาประโยชน์จากบริษัทประกันมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการให้รางวัลตัวแทนที่นำลูกค้าเข้าโรงพยาบาลและมีวงเงินรักษาสูง
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้บริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิตกำลังพิจารณาแนวทางแก้ไข เช่น ออกสินค้าใหม่โดยกำหนดให้มีวงเงินความรับผิดชอบส่วนแรก (Deductible) ประมาณ 10,000-20,000 บาท เพื่อให้พ่อแม่พิจารณาก่อนนำเด็กเข้าโรงพยาบาลในกรณีไม่รุนแรง และทำให้เบี้ยประกันถูกลง
ดร.สมโพชน์กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตปี 2568 ช่วงครึ่งปีแรกมีแรงหนุนจากลูกค้าแห่ทำประกันสุขภาพจากการบังคับใช้ Copayment แต่ครึ่งปีหลังมองว่าตลาดโดยรวมอาจจะ “เผาจริง” โอกาสเติบโตเริ่มยาก คงจะเหนื่อยมากขึ้น เพราะเห็นสัญญาณยอดขายประกันผ่านธนาคารของแบงก์ใหญ่ ๆ ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเริ่มติดลบ เพราะด้วยกำลังซื้อที่ลดลงจากผลของภาวะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิต คาดว่าจะยังคงทำได้ตามแผนที่วางไว้ คาดการณ์ปีนี้จะมีเบี้ยรับรวม 10,380 ล้านบาท เติบโต 6% เมื่อเทียบจากปี 2567 มาจากเบี้ยรับปีแรก 1,736 ล้านบาท และเบี้ยปีต่ออายุ 8,645 ล้านบาท โดยตั้งเป้ารีครูตตัวแทนใหม่ 2,000 คน เพื่อเป้าหมายตัวแทนทั้งหมดสิ้นปีที่ 8,000 คน
เนื่องจากเรายังคงมีสินค้าเรือธงที่แตกต่างจากตลาด เช่น ยูนิตลิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่ลูกค้าซื้อแล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาด และสินค้าสะสมทรัพย์ รวมถึงมีแผนออกสินค้า Deductible ช่วงประมาณไตรมาส 3/2568 ด้วย
ทั้งนี้ ยังมีลูกค้าสินทรัพย์สูงที่มีความมั่นใจในบริษัท และมองว่าการซื้อประกันให้ความสบายใจมากกว่าการลงทุนอื่น ๆ ในช่วงเศรษฐกิจผันผวนด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้รับเบี้ยก้อนใหญ่จากลูกค้ารายหนึ่งมูลค่าถึง 200 ล้านบาท