
ธปท.เผยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 1/68 หดตัว -1.3% ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 เช่าซื้อยังหดตัวต่อ -10.2% มองไปข้างหน้าสินเชื่อยังมีความท้าทายจากสงครามการค้า หนี้เสียขยับเพิ่มจาก 2.78% เป็น 2.9% ชี้หนี้เสียเอสเอ็มอีขยับเพิ่มทุกเซ็กเตอร์ ล่าสุดสั่งแบงก์กลุ่ม D-SIBs ทำประเมิน Stress Test รับมือพิษภาษีทรัมป์ ห่วงกระทบพอร์ตส่งออก-นำเข้า-ลูกจ้าง เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือตรงจุด ยันแบงก์ช่วยหั่นกำไรอุ้มลูกหนี้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ควัก 50% ลดภาระดอกเบี้ย
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1/2568 หดตัวอยู่ที่ -1.3% เป็นการหดตัวติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยมองไปข้างหน้าภาพรวมสินเชื่อยังคงมีความท้าทายจากผลกระทบนโยบายการค้าหลังครบกำหนด 90 วัน จึงต้องรอติดตามใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี ภาพรวมสินเชื่อในไตรมาสที่หดตัว -1.3% หากดูไส้ในพบว่าสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ยังขยายตัวได้ 1.5% จากภาคอสังหาริมทรัพย์ การเงิน และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการส่งออกที่มีการเร่งส่งออกก่อนนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ทำให้มีการเบิกใช้วงเงินมากขึ้น
ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หดตัว -5.5% ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดี ลูกค้าเดิมหรือลูกค้าที่มีศักยภาพธนาคารยังคงให้สินเชื่อ
ส่วนสินเชื่อรายย่อย หดตัว -2.2% หากดูใน 4 กลุ่มสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อเช่าซื้อหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -10.2% จากไตรมาสก่อน -9.9% มาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี พบว่ามีสัญญาณเป็นบวกในไตรมาสที่ 1/2568 จากจำนวนยอดรถยึดที่ปรับลดลงและราคารถมือสองที่ปรับดีขึ้น ส่วนบัตรเครดิตหดตัว -1.9% มาจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ลดลง ด้านสินเชื่อบ้านโตแค่ 0.2% ในกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท
ขณะที่สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.78% มาจากผลของปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และฐานสินเชื่อหดตัวในบางประเภทสินเชื่อ โดยธุรกิจเอสเอ็มอีหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นทุกเซ็กเตอร์อยู่ที่ 7.35% จาก 6.88% อย่างไรก็ดี เป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือมาแล้วก่อนหน้า
ส่วนหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย พบว่าปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.20% มาอยู่ที่ 3.35% โดยสินเชื่อบ้านหนี้เสียเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นจาก 3.88% มาอยู่ที่ 4.10% ซึ่งพบว่ากลุ่มราคาบ้านสูงกว่า 5 ล้านบาทเป็นหนี้เสียมากขึ้น ส่วนหนี้เสียสินเชื่อเช่าซื้อปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.17% เป็น 2.20%
สำหรับสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ภาพรวมปรับลดลงจาก 6.98% มาอยู่ที่ 6.97% สะท้อนสัญญาณที่ดีขึ้น โดยธุรกิจรายใหญ่ปรับลดลง เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้ ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีปรับเพิ่มขึ้นจาก 12.81% เป็น 13.27% เป็นผลมาจากธนาคารมีการจัดชั้นเชิงคุณภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจรายย่อยปรับเพิ่มขึ้นจาก 8.01% เป็น 8.06% มาจากสินเชื่อบ้าน อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคงต้องติดตามไตรมาสต่อไป
“หากเราดูโฟลว์ของการปล่อยสินเชื่อใหม่และการขำระหนี้คืน เราจะพบว่าในไตรมาสที่ 1/2568 เทียบกับไตรมาสที่ 4/2567 มียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 4.4 ล้านล้านบาท แต่มีการชำระหนี้คืนราว 4.39 ล้านล้านบาท โดยเป็นการชำระหนี้คืนของธุรกิจรายใหญ่ ทำให้โฟลว์ไม่สูง มองไปข้างหน้าสินเชื่อก็ยังมีความท้าทายอยู่”
ขณะเดียวกัน การส่งผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่า การลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นการช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะปัจจัยหลักมาจากต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ (Credit Risk) ในการพิจารณาสินเชื่อ แต่การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลูกค้ามากกว่า
อย่างไรก็ดี การส่งผ่านรอบนี้ ถือว่าน้อยกว่าการปรับลดดอกเบี้ยใน 2 รอบก่อนหน้า แต่ถือว่าการส่งผ่านมากกว่าในปี 2563-2564 ในช่วงโควิด-19 และจะเห็นว่าธนาคารไม่ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในครั้งนี้ด้วย
นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายการค้าและเศรษฐกิจธปท.ได้สั่งให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIBs) ทำแบบประเมินผลกระทบ (Stress Test) โดยกำหนดสมมุติฐาน เพื่อดูผลกระทบพอร์ตลูกค้าที่มีการเกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก และสินค้านำเข้าที่มีการทะลักเข้ามา รวมถึงผลกระทบต่อพนักงานและการจ้างงานด้วย ทั้งในส่วนของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี และรายใหญ่ อย่างไรก็ดี ธปท.มีความเป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบ
“เรามีการพูดคุยกับสถาบันการเงิน และมีการทำ Stress Test ทุกปี โดยเราจะมีการกำหนดสมมุติฐานให้ธนาคาร ซึ่งจะมีก่อนที่ Tariffs จะมีผลชัด และได้กำหนดหลังจากที่มี Tariffs คาดว่าจะได้เห็นผลการทดสอบภายในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการทดสอบดังกล่าว เราไม่ได้ดูความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินอย่างเดียว เพราะเรารู้ว่าสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งและมี Buffer คอยรองรับ แต่เราอยากรู้ว่าจะมีผลกระทบกับลูกค้าในพอร์ตอย่างไร เพื่อให้ ธปท.จะได้มีมาตรการเข้าไปดูแลช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ โดยเรากังวลในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันโดยเฉลี่ยบางธนาคารก็มีพอร์ตประมาณ 30% ขึ้นอยู่กับแต่ละแห่ง”
นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีกระทรวงการคลังได้มีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์หั่นกำไรธนาคารมาช่วยเหลือลูกหนี้นั้น มองว่า ธนาคารก็ช่วยนำกำไรส่วนหนึ่ง 50% มาช่วยเหลือลูกค้าในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” แล้ว ส่วนจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมอาจจะต้องรอดู
แต่หากดูโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ออกมา และกำลังมีการพูดคุยระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. สมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เพื่อขยายเกณฑ์และขอบเขตของลูกหนี้ แต่ยังคงตัดวันเป็นหนี้เสีย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ คาดว่าความชัดเจนของมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จะประกาศได้ภายในกลางเดือนหรือสิ้นมิถุนายน 2568 นี้
โดยล่าสุด โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” มีผู้ที่ลงทะเบียนและผ่านคุณสมบัติ 1.3 ล้านคน หรือ 1.7 ล้านบัญชี เฉลี่ยลูกหนี้ 1 คน มีบัญชี 1.2-1.3 บัญชี โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 มีลูกหนี้ 5.8 แสนล้านราย คิดเป็น 30% และยอดหนี้ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 48% ของเป้าหมาย โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน 1.8 แสนราย มูลค่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเข้ามาเกิน 50% รองลงมา สินเชื่อเอสเอ็มอี และเช่าซื้อ
นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง (ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงซึ่งเป็นปัจจัยฤดูกาลในไตรมาสก่อนและค่าใช้จ่ายด้าน IT) และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (เงินลงทุนและการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน) ปรับเพิ่มขึ้น
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดย NIM อยู่ที่ 2.8% อยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย NIM อยู่ที่ 4.6% ฟิลิปปินส์ 4.1% เวียดนาม 3.3% และประเทศที่ต่ำกว่าไทย คือสิงคโปร์ 2%