บาทแข็งค่ารับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดกังวลปัญหาหนี้รัฐบาลสหรัฐ

เงินบาท-ธนบัตร

เงินบาทแข็งค่ารับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดกังวลปัญหาหนี้รัฐบาลสหรัฐ นักวิเคราะห์เตือนการปรับลดอัตราภาษีครั้งใหม่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีก 3-5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 พฤษภาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/5) ที่ระดับ 32.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินบาทแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/5) ที่ระดับ 33.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะการคลังของรัฐบาลสหรัฐ หลังจากมีรายงานว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางไปยังรัฐสภาสหรัฐเมื่อวานนี้เพื่อโน้มน้าวสมาชิกพรรครีพับลิกันให้ผ่านร่างกฎหมายปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าการปรับลดอัตราภาษีครั้งใหม่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีก 3-5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูดี้ส์เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐ จากระดับ Aaa สู่ระดับ Aa1 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/5) โดยมูดี้ส์ระบุแถลงการณ์ว่า รัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐหลายชุดที่ผ่านมาไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการที่จะแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณรายปีจำนวนมากและภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

ราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่าเขาสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเฟดต้องรักษาสมดุลระหว่างแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเงินเฟ้อ และความวิตกเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ สัญญาณทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท มาลงทุนในโครงการอื่น ๆ

ทั้ง 1.โครงสร้างพื้นฐาน 2.การท่องเที่ยว 3.ลดผลกระทบภาคการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ และ 4.เศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ มองว่าการนำเอาเม็ดเงินลงทุนใส่ในโครงการที่น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน และสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ในระยะกลางและยาว ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและโดยเฉพาะในประเทศและโดยเฉพาะในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

เบื้องต้นจากการคาดการณ์เม็ดเงินลงทุนขนาด 1.57 แสนล้านบาทดังกล่าว จะส่งประสิทธิผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจไทยได้เพิ่มราว 0.8% ของ GDP โดยรวม แต่ด้วยโครงการลงทุนทั้ง 4 ด้านยังไม่มีความชัดเจนว่าในแต่ละด้านจะให้เงินลงทุนประมาณเท่าไหร่ จึงอาจจะมองได้ยากว่าจะขับเคลื่อน GDP ได้มากกว่านี้หรือไม่

อย่างไรก็ดี มองว่าโครงการลงทุนที่ 3 ลดผลกระทบภาคการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ ด้านการลดผลกระทบแรงงาน สนับสนุนมาตรการการเงินการคลังสนับสนุนสินเชื่อเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกเพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับกองทุนประกันสังคมด้านดิจิทัลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและการค้าระหว่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน หากมองไปภายภาคหน้า รัฐบาลควรเร่งขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อดึงให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ก็ควรมีการลงทุนเตรียมความพร้อมในด้านพลังงานให้เพียงพอ เพราะดาต้าเซ็นเตอร์ใช้ไฟจำนวนมาก เป็นต้น

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 32.66-32.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.7879 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/5) ที่ระดับ 1.1297/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/5) ที่ระดับ 1.1255/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สหภาพยุโรปและอังกฤษประกาศคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่โดยไม่รอสหรัฐเข้าร่วม ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนในอนาคต

ขณะที่บรรดานักลงทุนยังคาดการณ์ถึงความคืบหน้าในการทำข้อตกลงทางการค้า โดยภาษีตอบโต้ของทรัมป์มีกำหนดจะเริ่มบังคับใช้อีกครั้งในช่วงต้นเดือน ก.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.1279-1.1352 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1323/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/5) ที่ระดับ 144.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/5) ที่ระดับ 144.46/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (21/5) ว่า ยอดส่งออกปรับตัวขึ้น 2% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี แตะที่ระดับ 9.16 ล้านล้านเยน

ซึ่งแม้ว่าปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ก็ชะลอตัวลงจากเดือน มี.ค.ที่เพิ่มขึ้น 4% เนื่องจากการส่งออกรถยนต์และเหล็กปรับตัวลง อันเป็นผลมาจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ส่วนยอดนำเข้าลดลง 2.2% แตะที่ระดับ 9.27 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 2 เดือน เนื่องจากการนำเข้าถ่านหินและน้ำมันดิบชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 1.158 แสนล้านเยน (802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 3 เดือน รายงานของกระทวงการคลังระบุว่า ญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐ มูลค่า 7.8 แสนล้านเยนในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 14.3% เมื่อเทียบรายปี โดยยอดส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนั้น ลดลง 1.8% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 143.44-144.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 144.12/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดนำเข้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค. จาก Jibun Bank ญี่ปุ่น (22/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค.จาก HCOB ยูโรโซน (22/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (22/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค. จาก S&P Global สหรัฐ (22/5), ยอดขายบ้านมือสองเดือน เม.ย. สหรัฐ (22/5), อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.ญี่ปุ่น (23/5), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2568 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) เยอรมนี (23/5), ยอดขายบ้านใหม่เดือน เม.ย. สหรัฐ (23/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.9/-78 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.9/-8.7 สตาง์/ดอลลาร์สหรัฐ