
ช่วงนี้ มีประเด็นสำคัญ คือ การที่กรมสรรพากรเตรียมปรับเกณฑ์การเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศใหม่อีกครั้ง โดยจะ “ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ให้กับคนไทยที่มีเงินได้ในต่างประเทศ ที่นำเงินได้ดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศภายในปีที่เกิดเงินได้หรือปีถัดไป หรือนำกลับเข้ามาภายใน 2 ปี
ปิดช่องว่างบริหารภาษี
ย้อนไปในอดีต ที่มาที่ไป การเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศนั้น เดิมกำหนดว่า ผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ แล้วนำเข้ามาในประเทศไทย หากนำเข้ามาภายในปีที่เกิดเงินได้นั้น จะต้องเสียภาษี แต่หากข้ามปีแล้วถึงนำเงินกลับเข้ามาจะไม่เสียภาษี ทำให้ถูกมองว่า เป็นช่องว่าง ช่องโหว่ ทำให้เกิดการ “บริหารภาษี” ซึ่งภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้
ต่อมา กรมสรรพากรพยายามปิดช่องดังกล่าว โดยได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 ก.ย. 2566 ปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ แล้วนำเข้ามาในประเทศไทย จากเดิมหากนำเข้าข้ามปีจะไม่เสียภาษี เปลี่ยนเป็นต้องเสียภาษีไม่ว่าจะนำเข้าเมื่อใดก็ตาม กำหนดให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น มีการออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.162/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 20 พ.ย. 2566 เพื่อแก้ไขคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 โดยเพิ่มข้อความที่เป็นการยกเว้นให้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อผ่อนปรนให้กรณีเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศก่อนปี 2567 เนื่องจากเห็นว่า การตามหาเอกสารหลักฐานจะทำได้ยาก แต่เงินได้ที่เกิดในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป นำเข้ามาตอนไหนก็ตาม จะต้องถูกเก็บภาษี
ขณะเดียวกัน ทางกรมสรรพากรยังมีแนวคิดว่าในอนาคต จะดำเนินการแก้ไขประมวลรัษฎากร มาตรา 41 โดยจะคิดภาษีในปีที่เกิดเงินได้ในต่างประเทศทันที ไม่ว่าจะนำเงินเข้าประเทศหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีในการแก้ไขประมวลรัษฎากร
สรรพากรชง ครม.แก้เกณฑ์
สำหรับการดำเนินการในรอบนี้ “ภาณุวัฒน์ เหลืองวิไล” รองอธิบดี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ โดยจะกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับคนไทยที่มีรายได้ในต่างประเทศ หากนำเงินเข้ามาในประเทศภายในปีที่เกิดรายได้หรือปีถัดไป แต่หากนำเข้ามาหลังจากนั้น จะจัดเก็บภาษีตามปกติ
“ยกตัวอย่าง หากมีรายได้เกิดขึ้นในปี 2568 แล้วนำรายได้นั้นเข้ามาในประเทศภายในปี 2568 หรือ 2569 จะไม่มีภาระภาษี แต่หากนำเข้ามาหลังจากนั้น จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราขั้นบันไดตามรายได้ ตั้งแต่ 5-35%”
สำหรับเหตุผลของการปรับเกณฑ์การเก็บภาษีดังกล่าว “โฆษกกรมสรรพากร” ชี้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้คนไทยที่มีรายได้จากต่างประเทศนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ ตามนโยบายของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง
“การจัดเก็บภาษีเงินได้ในต่างประเทศถูกแก้ไขในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ระบุว่ารายได้จากต่างประเทศที่นำเข้ามาในไทย ไม่ว่าช้าหรือเร็วเพียงใด จะต้องถูกรวมคำนวณในฐานภาษีของปีที่นำเข้ามา ส่งผลทำให้คนไทยที่ลงทุน หรือทำงานต่างประเทศไม่อยากนำเงินกลับมา เพราะกังวลว่าจะต้องเสียภาษี”
พบกันครึ่งทางหวังดึงเงิน 2 ล้านล้าน
ด้าน “แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง” อธิบายว่า แนวปฏิบัติเดิมค่อนข้างมีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น ทางกรมสรรพากรจึงจะมีการปรับปรุงใหม่ โดยให้เป็นการ “พบกันครึ่งทาง” คือ หากนำเงินกลับเข้ามาภายใน 2 ปี นับจากปีที่เกิดเงินได้ จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากเกินจากนั้นก็จะเสียภาษีตามปกติ
“ทางกรมสรรพากรให้ข้อมูลว่า คนไทยมีรายได้ในต่างประเทศอยู่กว่า 2 ล้านล้านบาท หรือหากคิดเป็นรายได้ภาษีจะตกประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อไม่มีการนำเงินกลับเข้ามา ก็เก็บภาษีไม่ได้ ดังนั้น หากเงินเหล่านี้ มีการนำกลับเข้ามา อย่างน้อยก็จะส่งผลดีกับตลาดหุ้น เพราะคนที่อยากนำกลับเข้ามาลงทุน ก็สามารถนำกลับมาได้”
มุมมอง “ดร.นิเวศน์” กูรู VI
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) กล่าวว่า หากเกณฑ์ใหม่ออกมา เชื่อว่าหลายคนที่ก่อนหน้านี้ติดปัญหาไม่สามารถนำเงินกลับมาได้ ก็น่าจะนำเงินกลับมาเพื่อเคลียร์เรื่องภาษีให้เรียบร้อย และหลังจากนั้นหากจะกลับไปลงทุนในต่างประเทศใหม่ ก็คงจะเลือกลงทุนผ่าน DR หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะไม่โดนภาษี และมีความคล่องตัวมากกว่าไปลงทุนเองด้วย ซึ่งตนเองก็ใช้แนวทางนี้
“การลงทุนของผม ส่วนใหญ่คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้แปลงเงินลงทุนส่วนตัวในต่างประเทศไปอยู่ในรูปบริษัทแล้ว ภายใต้ บริษัท ตีแตก จำกัด จึงไม่กระทบ อย่างไรก็ตาม อาจยังมีเงินลงทุนส่วนตัวจำนวนเล็กน้อยที่ค้างอยู่ในต่างประเทศ ไม่เกิน 10 ล้านบาท ที่ลงทุนอยู่ในหุ้นเวียดนามบางตัว ซึ่งติดปัญหายังเคลียร์ขายไม่ออก ดังนั้น หากหลักเกณฑ์ใหม่ผ่าน ก็คงจะเคลียร์ขายให้หมด แล้วนำเงินโยกกลับมา” กูรูวีไอกล่าว