วีซ่ารุกบริการ QR Credit ตั้งเป้า 20% ลดต้นทุนระบบ

Punnamas

วีซ่า ประเทศไทย เผยไทยเป็นประเทศแรกออกบริการ “Visa QR Credit” ต่อยอดบริการ “Scan to Pay” หลังยอดธุรกรรมโตพุ่ง 130% พร้อมตั้งเป้าผู้ถือบัตรหันมาใช้บริการ 10-20% คาดช่วยลดต้นทุนทั้งระบบ ระบุ เห็นสัญญาณนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตลดลงไตรมาส 2/68 เหลือ 10% จากไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 15%

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำในด้านการชำระเงินผ่าน QR Payment แม้ว่าการใช้เงินสดยังคงมีสัดส่วนราว 70% โดยเฉพาะนอกเมือง หรือในต่างจังหวัด ซึ่งวีซ่ามองว่าเป็นโอกาสที่จะเข้าไปช่วยขยายช่องทางการชำระเงิน โดยวีซ่าพยายามผลักดันเรื่องของบริการชำระเงินผ่านคิวอาร์ หรือเรียกว่า “Scan to Pay” มาตั้งแต่ปี 2561-2562 ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบการโอนเงินรูปแบบใหม่ “พร้อมเพย์” ในปี 2559

โดยปัจจุบันอัตราการเติบโตของจำนวนรายการผ่าน “Scan to Pay” ของวีซ่า พบว่า มีอัตราการเติบโตต่อไตรมาสสูงถึง 130% ซึ่งการใช้งานครอบคลุมสถาบันการเงินมากกว่า 90% ของระบบ

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการต่อยอดบริการ “Scan to Pay” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 วีซ่าได้ขยายบริการ “Scan to Pay with Visa QR Credit” ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ออกบริการดังกล่าว โดยร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) รวม 8 แห่ง เพื่อให้บริการดังกล่าว ส่วนประเทศอื่น ๆ คาดว่าจะทยอยออกบริการ “Visa QR Credit” ตามมา เช่น อินเดีย, ญี่ปุ่น และสหรัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ วีซ่าคาดหวังว่าจะมีผู้ถือบัตรเครดิตของวีซ่ามาใช้บริการ “Scan to Pay with Visa QR Credit” ประมาณ 10-20% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมด

“มองไปข้างหน้า Visa QR Credit จะมาช่วยทำให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้น และต้นทุนของระบบจะปรับลดลง ทั้งต้นทุนของร้านค้าในการวางเครื่องรับบัตร (EDC) ที่มีต้นทุนเฉลี่ย 5,000-10,000 บาท ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา และผู้ออกบัตร ไม่ต้องออกบัตรที่เป็นพลาสติกที่มีต้นทุนเป็นหลายล้านบาท หรือต้นทุนของการทุจริต (Fruad) ที่มีมหาศาล ซึ่งหากต้นทุนทั้งระบบลดลง เราจะเห็นสิทธิประโยชน์ไปอยู่กับลูกค้า และธนาคารจะเสนอโปรโมชั่นที่ถูกมากขึ้น”

ADVERTISMENT

นายปุณณมาศกล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) ผ่านบัตรวีซ่า พบว่า กลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง (Affluent) ที่มีรายได้มากกว่า 7 หมื่นบาทต่อเดือน ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8% ขณะที่กลุ่มทั่วไป (Mass Affluent) รายได้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน ยังค่อนข้างเหนื่อย มีอัตราการเติบโต 5%

โดยหมวดการใช้จ่ายบัตร อันดับแรก คือ หมวดประกัน ซึ่งเป็นหมวดที่ใช้จ่ายมากที่สุดในไทย และเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงก่อนการประกาศ Copayment และอันดับ 2 หมวดน้ำมัน เติบโตน้อยลง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน เพราะคนหันไปใช้รถไฟฟ้า (EV) มากขึ้น และอันดับ 3 หมวดซื้อของในห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และหมวดสุขภาพและอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศจะเห็นว่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และหากดูการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทย จะพบว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตชะลอลงเช่นกัน โดยในไตรมาส 1/2568 มีอัตราการเติบโต 15% และหากดูทิศทางในไตรมาส 2/2568 ลดลงเหลือ 10% จากในปี 2567 ยอดใช้จ่ายมีอัตราการเติบโต 20%

“จากภาพรวมการใช้จ่ายท่องเที่ยวที่ปรับลดลง วีซ่าได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการทำข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อดูนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่ยาวและใช้จ่ายสูง เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและตรงจุดมากขึ้น เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (UAE) ที่ให้ความสนใจและมาเที่ยวไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 จากเดิมอยู่ในอันดับ 3-5 รวมถึงอินเดียและอิสราเอลด้วย เพราะจะเห็นว่ากลุ่มอาหรับจะมาเป็นครอบครัว ทำให้การใช้จ่ายสูงกว่าประเทศอื่น”