
เศรษฐกิจโตต่ำ-ผู้บริโภครัดเข็มขัดจับจ่าย “บล.เอเซีย พลัส” ชี้ฉุดกำไรหุ้นค้าปลีกครึ่งปีหลัง หั่นกำไรสิ้นปีเหลือ 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% ปรับลดน้ำหนักลงทุนหุ้นค้าปลีกลงจาก “มากกว่าตลาด” เป็น “Neutral”
นางสาวปิยะธิดา สนธิสมบัติ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในงวดไตรมาส 1/2568 หุ้นในกลุ่มพาณิชย์ (ค้าปลีก) มีกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 1.96 หมื่นล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) เพิ่มขึ้น 26% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยหุ้นที่ศึกษา 7 หุ้น ประกอบด้วย
- บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)
- บมจ.คอมเซเว่น (COM7)
- บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)
- บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL)
- บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT)
- บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO)
- บมจ.ดูโฮม (DOHOME)
Q1 กำไร 1.66 หมื่นล้าน
มีกำไรสุทธิรวมกันราว 84% ของกำไรสุทธิโดยรวมทั้งหมดของกลุ่ม หรือคิดเป็น 1.66 หมื่นล้านบาท ลดลง 7% QOQ และเพิ่มขึ้น 17% YOY ทั้งนี้หากไม่รวมรายการพิเศษ พบว่า มีกำไรปกติรวมกันราว 1.56 หมื่นล้านบาท ลดลง 7% QOQ และเพิ่มขึ้น 14% YOY โดยกำไรปกติที่ลดลง QOQ เป็นเพราะผลเชิงลบของฤดูกาล เมื่อเทียบกับในไตรมาสก่อนหน้า ที่การจับจ่ายสินค้าได้อานิสงส์จากเทศกาลส่งท้ายปี ทำให้ในงวดไตรมาส 1/2568 เกือบทุกบริษัทมีกำไรปกติที่ตกต่ำลงจากไตรมาสก่อน ยกเว้น CPALL และ DOHOME ที่มีกำไรโต QOQ ได้
CPALL ที่มีผลประกอบการดีขึ้น QOQ เพราะได้แรงหนุนจากอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ที่สูงขึ้น ตามสัดส่วนการขายที่เพิ่มขึ้นของสินค้าที่สร้างมาร์จิ้นให้สูง เช่น อาหารพร้อมทาน (Ready To Eat) และของใช้ส่วนตัว ส่วน DOHOME ฟื้นตัวแรงในไตรมาส 1/2568 เพราะยอดขายได้ประโยชน์จาก Easy E-receipt และการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 และฤดูเก็บเกี่ยวที่สิ้นสุดลงในช่วงปลายปี ซึ่งหนุนกำลังซื้อโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เป็นลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัท
ขณะที่มาร์จิ้นสูงขึ้น ตามราคาเหล็กที่เป็นหนึ่งในสินค้าหลักปรับตัวสูงขึ้นและหากเทียบ YOY กำไรปกติโดยรวมของหุ้นที่เราศึกษายังโตได้ดี เพราะผลการดำเนินงานเกือบทุกบริษัทโตดีขึ้น ยกเว้น CRC และ HMPRO ที่ค่อนข้างทรงตัว โดยภาพรวมมีแรงหนุนจากการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 และเทศกาลตรุษจีน โดยหุ้นที่มีกำไรปกติเติบโตเด่นสุด YOY ในงวดไตรมาส 1/2568 คือ COM7 เพิ่มขึ้น 30% YOY รองลงมาคือ BJC และ CPALL ที่ทั้ง 2 บริษัทมีกำไรปกติโตราว 26% YOY
ทั้งนี้ COM7 มีกำไรปกติโตแรง เพราะมีทั้งยอดขายและมาร์จิ้นที่สูงขึ้น โดยยอดขายได้แรงหนุนจาก Easy E-receipt และการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ส่วนมาร์จิ้นที่ดีขึ้นเพราะการปิดสาขาที่ไม่สร้างกำไร เช่นเดียวกันกับ CPALL ที่มีทั้งยอดขายและมาร์จิ้นที่สูงขึ้น โดยมีการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ที่ 3% ถือว่าแกร่งสุดในกลุ่ม บวกกับยอดขายจากสาขาใหม่ที่เพิ่มจาก 14,730 แห่ง เมื่อไตรมาส 1/2567 อีก 700 แห่ง เป็น 15,430 แห่ง ในไตรมาส 1/2568
ส่วนกำไรของ BJC ถูกผลักดันจากมาร์จิ้นที่สูงขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ (ธุรกิจบรรจุภัณฑ์, ธุรกิจเวชภัณ์และการแพทย์ รวมทั้งธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภค) ยกเว้นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (BigC) ซึ่งมีมาร์จิ้นต่ำลง หลังการขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) ซึ่งสร้างมาร์จิ้นสูง มีสัดส่วนลดลง
ศก.โตต่ำ-ผู้บริโภครัดเข็มขัด ฉุดกำไรค้าปลีก
สำหรับกำไรในช่วงที่เหลือของปี 2568 คาดจะมีปัจจัยลบเข้ามากดดันยอดขายมากขึ้น โดยปัจจัยที่สำคัญ คือ 1. ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มโตต่ำ เนื่องจากดัชนีค้าปลีก (RSI) ของไทย มักมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552 – 2567) มีค่าสหสัมพันต์ (Correlation) กันที่ 79% แต่ดัชนีค้าปลีกมักจะมีการเปลี่ยนแปลง “ขึ้น-ลง” ที่แรงกว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ
และจากตัวเลข GDP งวดไตรมาส 1/2568 ซึ่งออกมาที่ 3.1% บวกกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบได้เพียง 1.3 – 2% (ต่ำกว่าปีก่อนที่โต 2.5%) จะมีความหมายเป็นนัยว่าช่วงที่เหลืออีก 3 ไตรมาสของปี 2568 จีดีพีจะมีการเติบโตเฉลี่ย 0.7 – 1.63% ต่อไตรมาสเท่านั้น ซึ่งจะต่ำกว่าการเติบโตในไตรมาส 1/2568 จึงเชื่อว่าดัชนีค้าปลีกของไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นขาลงเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันยอดขายของหุ้นในกลุ่มพาณิชย์
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงติดต่อกัน 2 เดือน คาดฉุดยอดการจับจ่าย โดยจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 15 ปี พบว่าการเติบโตของดัชนียอดค้าปลีกของไทย มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งดัชนีค้าปลีกโดยรวมสำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ได้ปรับลด MOM อย่างต่อเนื่องแล้ว 2 เดือน นับจากเดือน ก.พ. 2568 ซึ่งอยู่ที่ 52.0 เหลือ 50.8 ในเดือน มี.ค. 2568 และลดลงต่ออีกเหลือ 48.8 ในเดือน เม.ย. 2568 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่เชื่อมั่น
นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตได้ลดลงตั้งแต่ มี.ค. 2568 ต่อเนื่องมาในเดือน เม.ย. 2568 เช่นกัน โดยลดจาก 57.4 ในเดือน มี.ค. 2568 เหลือ 55.9 และ 54.4 ในเดือน มี.ค. 2568 และ เม.ย. 2568 (ตามลำดับ) ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่น้อยลงต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะถัดไป (3 – 6 เดือนข้างหน้า) ซึ่งจะฉุดยอดการจับจ่ายของผู้บริโภค จึงเชื่อว่าดัชนีค้าปลีก รวมทั้งยอดขายในช่วงไตรมาส 2-3/2568 ของหุ้นในกลุ่มพาณิชย์มีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำลงเช่นกัน
3. SSSG เม.ย. 2568 – กลาง พ.ค. 2568 ภาพโดยรวมทั้งกลุ่มชะลอตัว แต่ยังมี CPALL ดูเด่นสุด โดยประเมินว่าภาพรวมของ SSSG สำหรับช่วงไตรมาส 2/2568 จะชะลอลง YOY ซึ่งแย่กว่าไตรมาส 1/2568 ที่ยังมี SSSG ที่เติบโตได้ เนื่องจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลงในงวดไตรมาส 2/2568 เพราะถูกฉุดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างในไตรมาส 1/2568 กล่าวคือ ไม่มี Easy E-receipt ที่ให้สิทธิการลดหย่อนภาษี สำหรับการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าทั่วไป 30,000 บาท และสินค้าโอท็อป 20,000 บาท ไม่มีการแจกเงิน 10,000 บาท อย่างในไตรมาส 1/2568 ที่มีการแจกเงิน เฟส 2 หลังการแจกเงินเฟส 3 ถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด
2. ในงวดไตรมาส 2/2568 มีฝนที่ตกเร็วกว่าปีก่อน เป็นอุปสรรคต่อการออกไปจับจ่ายนอกบ้าน และ 3. จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงตามฤดูกาลโดยช่วง เม.ย. 2568 ยอดนักท่องเที่ยวลดลง 6% YOY และลดลง 16% YOY ในช่วง 1 พ.ค. – 18 พ.ค. 2568
ทั้งนี้ SSSG ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/2568 (เม.ย. – พ.ค.) ของหุ้นเกือบทุกตัว ยกเว้น CPALL ที่คาดจะยังมี SSSG ที่เติบโตได้ในช่วงดังกล่าว
หั่นกำไรสิ้นปีเหลือ 6.3 หมื่นล้าน โต 8%
ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้ปรับลดประมาณการกำไรของหุ้นค้าปลีกไปเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น COM7 และ HMPRO ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปรับลดจากเดิมราว 8% เหลือ 6.3 หมื่นล้านบาท หรือโตขึ้นเพียง 8% ซึ่งคาดจะใกล้เคียงกับการเติบโตของตลาด จึงต้องปรับลดน้ำหนักการลงทุนสำหรับหุ้นค้าปลีกลงจาก “มากกว่าตลาด” เป็น “Neutral”
เลือก CPALL เป็น top pick เพราะ 1. ระยะสั้นเป็นหุ้นที่คาดมีการเติบโตของกำไรในไตรมาส 2/2568 ที่โตทั้ง QOQ และ YOY จาก SSSG ที่แกร่งสุด และอัตรามาร์จิ้นยังมีแนวโน้มสูงขึ้น จากสัดส่วนการขายสินค้าอาหารพร้อมทาน (Ready To Eat) ที่คาดจะยังเพิ่มขึ้น และ 2. ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายด้วย PER ปี 2568 ที่ 16.2 เท่า หรือราว -2.2 S.D จากค่าเฉลี่ย 3 ปีก่อน