วีซ่าเผยยอดรูดปรื๊ดนักท่องเที่ยวต่างชาติโตชะลอ คาด Q2/68 อยู่ที่ 10%

วีซ่า ประเทศไทย เผยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวลง คาดไตรมาส 2/68 ขยายตัว 10% ลดลงจากไตรมาส 1/68 ที่อยู่ 15% ระบุ เร่งร่วมมือ ททท.วิเคราะห์พฤติกรรมดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มอยู่ยาว-ใช้จ่ายสูง

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) ผ่านบัตรวีซ่า พบว่า กลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง (Affluent) ที่มีรายได้มากกว่า 7 หมื่นบาทต่อเดือนยังมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8% ขณะที่กลุ่มทั่วไป (Mass Affluent) รายได้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนยังค่อนข้างเหนื่อย มีอัตราการเติบโต 5%

โดยหมวดการใช้จ่ายบัตร อันดับแรก คือ หมวดประกัน ซึ่งเป็นหมวดที่ใช้จ่ายมากที่สุดในไทย และเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงก่อนการประกาศ Copayment และอันดับ 2 หมวดน้ำมัน เติบโตน้อยลง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน เพราะคนหันไปใช้รถไฟฟ้า (EV) มากขึ้น และอันดับ 3 หมวดซื้อของในห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต หมวดสุขภาพ และอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศจะเห็นว่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และหากดูการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทย จะพบว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตชะลอลงเช่นกัน โดยในไตรมาส 1/2568 มีอัตราการเติบโต 15% และหากดูทิศทางในไตรมาส 2/2568 ลดลงเหลือ 10% จากในปี 2567 ยอดใช้จ่ายมีอัตราการเติบโต 20%

“จากภาพรวมการใช้จ่ายท่องเที่ยวที่ปรับลดลง วีซ่าได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ในการทำข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อดูนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอยู่ยาวและใช้จ่ายสูง เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและตรงจุดมากขึ้น เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (UAE) ที่ให้ความสนใจและมาเที่ยวไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 จากเดิมอยู่ในอันดับ 3-5 รวมถึงอินเดียและอิสราเอลด้วย เพราะจะเห็นว่ากลุ่มอาหรับจะมาเป็นครอบครัว ทำให้การใช้จ่ายสูงกว่าประเทศอื่น”

ขณะที่จำนวนบัตรเครดิตในประเทศที่รายงานผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอยู่ราว 27-30 ล้านใบ โดยเฉลี่ย 1 คนถือบัตร 2.8 ใบ ซึ่งจะเห็นว่าการเติบโตบัตรใหม่อาจจะไม่เยอะมาก ส่วนหนึ่งคนมีบัตรค่อนข้างเยอะ ประกอบกับคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ทำให้การเติบโตของบัตรใหม่ช้าลง

ส่วนทิศทางการชำระเงินของคนไทยผ่านช่องทางต่าง ๆ พบว่า การใช้เงินสดยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ 70% และหากดูการชำระช่องทางอื่น เช่น Moblie Contactless 47% QR Payment 60% Mobile Wallet 58% และสัดส่วนใช้จ่ายออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตและเดบิตอยู่ที่ 43%

ADVERTISMENT

“การใช้เงินสดยังคงเป็นก้อนใหญ่อยู่ แต่วีซ่ามีโอกาสเข้าไปช่วยในเรื่องของการใช้จ่ายโดยการเพิ่มแวลู ซึ่งประเทศไทยนำโด่งในเรื่องของ QR Payment เราจึงพยายามผลักดันในส่วนนี้มากขึ้น โดยล่าสุดร่วมกับ 8 สถาบันการเงินในการออกบริการ ‘Scan to Pay with Visa QR Credit’ เพื่อต่อยอดโซลูชั่นระบบการชำระเงิน และช่วยลดต้นทุนของระบบ”