“เจริญ”ไล่ล่าธุรกิจการเงิน ตะลุยเทกโอเวอร์-ดึง”สมชัย สัจจพงษ์”คุมทัพ

“เจ้าสัวเจริญ” จัดพอร์ตขยายอาณาจักรธุรกิจการเงินครบวงจร ดึง “สมชัย สัจจพงษ์”อดีตปลัดคลังคุมทัพ หลังส่ง “อาคเนย์” เปิดเกมซื้อไทยประกันภัย แบ็กดอร์เข้าตลาดหุ้น สร้างขุมทรัพย์ใหม่ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” สินทรัพย์รวม 8 หมื่นล้าน เผยแต่งตัวพร้อมรุกคืบธุรกิจธนาคาร-ฟินเทค วงการประกันจับตายักษ์ขยับเผยรายเล็กอยู่ยาก ดีล M&A ธุรกิจประกันคึก 6 เดือนโผล่ 5 ดีล

เจริญตั้ง “สมชัย” อดีตปลัดคลัง

แหล่งข่าวจากบริษัท เครืออาคเนย์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางอาคเนย์ได้แต่งตั้ง นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เข้ามาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ บริษัทเครืออาคเนย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และครอบครัว ที่มีบริษัทย่อยทั้งอาคเนย์ประกันชีวิต, อาคเนย์ประกันภัย, อาคเนย์แคปปิตอล และอื่น ๆ อีกหลายบริษัท โดยนายสมชัย ได้รับมอบหมายให้เข้ามาช่วยดูแลกลุ่มธุรกิจประกันและการเงินทั้งหมดของเจ้าสัวเจริญรวมทั้งบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่อาคเนย์ได้เข้าไปเทกโอเวอร์ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับโครงสร้างเพื่อควบรวมกิจการ พร้อมกับจัดตั้ง บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามารับโอนสินทรัพย์ทั้งหมดของอาคเนย์ และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแทนบริษัทไทยประกันภัย พร้อมตั้งนายสมชัยเข้าไปนั่งเป็นรองประธานกรรมการ บริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์

“หลังจากนำโฮลดิ้งเข้าจดทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอาไทยประกันภัยออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ การตั้งโฮลดิ้งก็คงเสร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทันหรือไม่ ขึ้นกับกระบวนการขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

จัดพอร์ตบุกแบงก์-ฟินเทค

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทัพธุรกิจครั้งนี้ กลุ่มอาคเนย์นอกจากจะรุกธุรกิจประกันเต็มที่แล้ว รวมถึงธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอย่างลีสซิ่ง และพิโกไฟแนนซ์ด้วย นอกจากนี้มีแผนการขยายอาณาจักรธุรกิจการเงินให้ครอบคลุมทุกธุรกิจด้วยการเข้าลงทุนซื้อกิจการ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวมถึงฟินเทค อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและการเจรจากับพันธมิตรต่าง ๆ ว่าจะได้ข้อสรุปหรือไม่

ADVERTISMENT

สูตรสำเร็จแบ็กดอร์เข้า ตลท.

แหล่งข่าววงการประกันภัยเปิดเผยว่า ขณะนี้ในแวดวงธุรกิจมีการจับตาความเคลื่อนไหวเครืออาคเนย์ของเจ้าสัวเจริญ ว่าจะเป็นการจัดทัพธุรกิจประกันและการเงินครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมเปิดเกมรุกในการขยายพอร์ตธุรกิจการเงิน จากที่ได้เดินหน้ากระบวนการเทกโอเวอร์บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (TIC) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ด้วยมูลค่าดีล 2.5 หมื่นล้านบาท เป้าหมายเพื่อให้เครืออาคเนย์เข้าตลาดทางอ้อม (backdoor listing) พร้อมกับโอนทรัพย์สินในเครืออาคเนย์ทั้งหมดเข้าไปอยู่ในเครือไทย โฮลดิ้งส์ และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ไทยประกันภัย และเมื่อทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เสร็จสิ้น บริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ จะดำเนินการนำหุ้นสามัญของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแทน พร้อมกับเพิกถอนหุ้นของ TIC ออกจากตลาด

ADVERTISMENT

“เป็นโมเดลที่เจ้าสัวเจริญได้เคยใช้ เมื่อครั้งเทกโอเวอร์แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทอสังหาฯที่ขาดทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 2555 ที่วันนี้รู้จักในชื่อโกลเด้นแลนด์ กลายเป็นแบรนด์อสังหาฯมาแรงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม มีรายได้ปีละกว่าหมื่นล้านบาท”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังกระบวนการแบ็กดอร์ของอาคเนย์เสร็จสิ้น เชื่อว่าจะได้เห็นการเปิดเกมรุกในธุรกิจประกันและธุรกิจการเงินของตระกูลสิริวัฒนภักดีอย่างเต็มรูปแบบ โดยในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทไทยประกันภัย เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ได้มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกิจการดังกล่าวแล้ว ทำให้ทุกอย่างก็จะเดินหน้าตามแผน

ผ่าธุรกิจ “เครือไทย โฮลดิ้งส์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเครืออาคเนย์ ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัทเดอะ เซาท์อีสท์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล 49% และเจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี 51% โดยทรัพย์สินที่จะโอนเข้าบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ ประกอบด้วย บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต สัดส่วน 99.97% บริษัท อาคเนย์ประกันภัย 97.33% และบริษัทอื่น ๆ อีก 10 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท อาคเนย์แคปปิตอล จำกัด 2.บริษัท อาคเนย์แอดไวซ์เซอรี่ จำกัด 3.บริษัท ทีซีซีพริวิเลจการ์ด จำกัด บัตรเครดิต ทีซีซี พริวิเลจ การ์ด เป็นความร่วมมือของทีซีซีกรุ๊ป กับบริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด4.บริษัท ศูนย์วิชาการอาคเนย์ จำกัด 5.บริษัท เอเชียติ๊กเฮาส์ จำกัด 6.บริษัทเซาท์อีสต์ แอดไวซ์เซอรี่ จำกัด 7.บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ จำกัด 8.บริษัท เอสโซฟิน จำกัด 9.บริษัท ทิพยประกันภัย (สปป.ลาว) จำกัด และ 10.บริษัท อาเซียน รีอินชัวรันซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

หากคำนวณจากสินทรัพย์ของ 4 บริษัทหลัก คือ อาคเนย์ประกันชีวิต, อาคเนย์ประกันภัย, อาคเนย์แคปปิตอล ให้บริการด้านเช่าซื้อ ธุรกิจเช่ารถยนต์ และไทยประกันภัยที่จะโอน ทำให้เครือไทย โฮลดิ้งส์ จะมีสินทรัพย์รวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท

รายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯระบุว่า หลังโอนกิจการทั้งหมด บริษัทโฮลดิ้งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการปรับโครงสร้างในลักษณะของบริษัทโฮลดิ้ง จะช่วยเปิดโอกาสในการลงทุนในธุรกิจประกันภัยและอื่น ๆ สามารถขยายการลงทุนไปในกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย

คปภ.หนุนควบรวมเสริมแกร่ง

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การควบรวมกิจการของเครืออาคเนย์ (SEG) และ บมจ.ไทยประกันภัย (TIC) ขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างกิจการบริษัท ซึ่งบริษัทยังไม่ได้ส่งรายละเอียดให้กับสำนักงาน คปภ. คาดว่าอยู่ระหว่างเจรจาตกลงร่วมกัน โดยหลังจากทั้งสองฝ่ายปรับโครงสร้างกิจการเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องมีการยื่นแผนธุรกิจทั้งหมดมาให้สำนักงาน คปภ.พิจารณา เพราะบางธุรกรรมอาจต้องขอความเห็นชอบจากนายทะเบียน และบอร์ด คปภ.

อย่างไรก็ดี คปภ.พร้อมสนับสนุนให้เกิดการควบรวม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจากต่างชาติ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีมาร่วมดำเนินธุรกิจ เพื่อทำให้บริษัทประกันภัยมีความเข้มแข็ง และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

ประกันรายเล็กแข่งยาก

ด้านนายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันขนาดของธุรกิจประกันภัยในไทยมีความเหลื่อมล้ำกันมาก กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 10 บริษัทแรก มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 62% ส่วนอีก 49 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 38% กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่มีเบี้ยประกันภัยรับตรง เฉลี่ยบริษัทละ 14,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทที่เหลืออยู่มีเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยบริษัทละ 1,700 ล้านบาท ด้วยขนาดของรายรับที่ต่างกันถึง 8 เท่า ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายในการหางานของบริษัทขนาดใหญ่ มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงกว่า จึงทำให้ศักยภาพทางการแข่งขันของบริษัทขนาดใหญ่โดยรวมมีมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก

“ปัจจุบันต้นทุนบริหารจัดการบริษัทประกันขนาดกลางและขนาดเล็ก เฉลี่ยอยู่ที่ 20-25% ในขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เฉลี่ยอยู่แค่ 10-15% ซึ่งการที่บริษัทประกันรายเล็กจะอยู่รอด คงต้องเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น” นายกี่เดชกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่า 3-5 ปีข้างหน้า มาร์เก็ตแชร์ของกลุ่มบริษัทประกันขนาดใหญ่จะเพิ่มขึ้นเป็น 70-75% โดยจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยจะหดตัวลดลงเหลือ 30-40 บริษัท สอดคล้องกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เช่น บริษัทประกันภัยในฟิลิปปินส์ ลดลงจาก 80 กว่าบริษัท เหลือเพียง 55 บริษัท และในมาเลเซียเหลือ 22 บริษัท จากเดิมที่มีเกือบ 40 บริษัท

ต่อยอดรุกต่างประเทศ

ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า ทิศทางการควบรวมธุรกิจประกันภัยจะมีความสำคัญในการต่อยอดทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น เพื่อครองส่วนแบ่งการตลาดให้อยู่ในลำดับต้น ๆ เพื่อที่จะขยายฐานต่อยอดธุรกิจในอนาคต

“ผลการควบรวมและการซื้อกิจการทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น และแข็งแรงยิ่งขึ้น ทำให้เกิด economy of scale ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วด้วยขนาดของรายได้ที่เพิ่มขึ้นทันที เกิดการผสมผสานของทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถและศักยภาพในการทำงานร่วมกัน สร้างธุรกิจให้เหนือคู่แข่งขันในตลาด เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในกรณีที่แต่ละบริษัทมีตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายต่างกัน ทำให้ครอบคลุมช่องทางการทำการตลาดที่สมบูรณ์มากขึ้น และสามารถสร้างยุทธศาสตร์การขยายตลาดไปในต่างประเทศได้ในทันทีที่ควบรวมกิจการกัน” นายกี่เดชกล่าว

นายกี่เดชกล่าวว่า บริษัทประกันภัยในไทยหากินในประเทศอย่างเดียวจะทำให้ธุรกิจอืด โดยช่วง 3-4 ปีก่อน อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยแค่ 1-2% เป็นสัญญาณที่อาจจะทำให้ตลาดประกันภัยไทยกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง บริษัทประกันต้องออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาด สปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา ที่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตในอัตราสูงกว่า 10-20% ซึ่งการควบรวมและซื้อกิจการจะเป็นการขยายตลาดที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจต่อเนื่องได้

ครึ่งปีประกันควบรวม 5 ดีล

ทั้งนี้ จากกระแสการควบรวมกิจการ (M&A) ของธุรกิจประกันภัยไทย พบว่า 6 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทที่ทำดีล M&A ไปแล้ว 5 ราย ซึ่งประกอบด้วย 1.การซื้อกิจการของกลุ่มเอ็ทน่า (Aetna) จากบูพา ประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น เอ็ทน่าประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) 2.การร่วมกิจการของกลุ่มเจมาร์ท กับฟีนิกซ์ ประกันภัย (ประเทศไทย) เปลี่ยนชื่อเป็น เจพี ประกันภัย 3.กลุ่มคิงไว (King Wai Group) ซื้อกิจการ คิวบีอี ประกันภัย (ประเทศไทย) เปลี่ยนชื่อเป็น คิง ไว ประกันภัย 4.กลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ซื้อไทยประกันภัย และ 5.กลุ่มโตเกียวมารีน ซื้อบริษัทประกันคุ้มภัยจากกลุ่มไอเอจี