นักท่องเที่ยวไทยโตไวเหมือนกัน

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน

โดย คนขายของ

เมื่อพูดถึง megatrend (แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก) บางท่านอาจจะนึกถึงเรื่อง “เทคโนโลยี” ไม่ว่าเป็นเรื่อง internet of things, รถยนต์ไร้คนขับ หรือไม่ก็พลังงานทางเลือก แต่แท้จริงแล้ว megatrend ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของแนวทางการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย

อย่างเช่น urbanization หรือการขยายตัวของพื้นที่เมือง ซึ่งคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบครอบครัวเดี่ยว ทำงานเป็นพนักงานประจำ มากกว่าทำการเกษตร และทานข้าวนอกบ้านมากกว่าที่จะทำอาหารทานเอง ซึ่งนอกจาก urbanization แล้ว megatrend เรื่องการท่องเที่ยวก็เป็นอีกเทรนด์หนึ่ง ซึ่งมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งดูแล้วน่าสนใจไม่แพ้เรืองเทคโนโลยีเช่นกัน

นักลงทุนหลายท่านอาจแปลกใจเมื่อทราบว่าราคาหุ้นของกิจการโรงแรมอย่าง Marriott International ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขึ้นมาถึง 245% ซึ่งมากกว่าราคาหุ้นของ TESLA ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังเสียอีก ทั้งนี้หากดูจากสถิติในปี 2007 ทั้งโลกมีนักท่องเที่ยวราว 810 ล้านคน ผ่านมา 10 ปี ตัวเลขกลายมาเป็น 1,323 ล้านคน โดยตอนนี้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนมีมูลค่าเป็นที่หนึ่ง ด้วยมูลค่า 258 พันล้านเหรียญ มากกว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวสหรัฐ ซึ่งอยู่อันดับสองเกือบ 1 เท่า จากการประเมินของ travelchinaguide.com ในปี 2017 นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเดินทางออกนอกประเทศมีสูงถึง 127 ล้านคน เติบโตอย่างสูงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขอยู่แค่ 40 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2011-2016 การเติบโตของ global GDP ในช่วง 2-3% ต่อปี แต่ global tourism GDP สามารถโตได้ราว 4%

สำหรับประเทศไทย ตอนนี้ทุกคนคงทราบดีว่าเมืองไทยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยถึง 35.4 ล้านคนในปี 2017 เติบโต 8% จากปี 2016 ทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก และเป็นอันดับสองของเอเชียรองจากประเทศจีน

แต่มีอีกสถิติหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ จากการตรวจสอบดูสถิติย้อนหลัง พบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศนั้น เพิ่มขึ้นตลอด จากที่เคยอยู่ที่ 0.5 ล้านคนในปี 1980 เพิ่มเป็น 1.9 ล้านคนในปี 2000 และกลายมาเป็น 6.8 ล้านคนในปี 2015 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2018 จะมีนักท่องเที่ยวไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศเกือบ 10 ล้านคน

เมื่อคิดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อประชากรของจีน พบว่าอยู่ที่ 9.07% แต่ของไทยอยู่ที่ 14.5% แสดงว่าคนไทยให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวต่างประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว แต่กระนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีตัวเลขนักท่องเที่ยวต่อประชากรสูงถึง 38.86% และ 26.93% ดังนั้นก็ยังมีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยจะออกไปตะลุยต่างแดนจะเติบโตไปได้อีก

จากรายงานของ Deloitte ในหัวข้อ 2018 Travel and Hospitality Industry Outlook ได้ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลเรื่องการใช้จ่ายของบุคคล พบว่าการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน (durable goods) เช่น รถยนต์ โซฟา เครื่องใช้ไฟฟ้า และแม้แต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีการตกลงเล็กน้อยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แต่การบริโภคในลักษณะการซื้อประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยวและทานข้าวนอกบ้านมีแนวโน้มกำลังขยายตัว โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าปัจจัยผลักดันสำคัญเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียอย่าง facebook ทำให้การแชร์ประสบการณ์ชีวิตในแวดวงเพื่อนฝูงเป็นสิ่งสำคัญ

แรงขับดันอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวคือ การปรับขึ้นค่าแรงของคนในประเทศ ในปี 2012 ประเทศจีนมีการปรับค่าแรงสูงถึง 20% ตามมาด้วยอีก 17% ในปี 2013 และ 10-13% ในปีต่อ ๆ มา ทำให้ปัจจุบันเงินเดือนของพนักงานในหัวเมืองใหญ่ของจีนแซงเงินเดือนของคนกรุงเทพฯไปแล้ว หากประเทศไทยมีการปรับค่าจ้างแบบอัตราเร่งบ้างในอนาคต ก็น่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยสามารถขยายตัวสูงได้ไม่ยาก จากรายงานของ MasterCard ในหัวข้อ The Future of Outbound Travel in Asia Pacific ระบุว่า ในปี 2014 คนไทยส่วนใหญ่ที่เที่ยวต่างประเทศ มีรายได้ครัวเรือนอย่างน้อยเดือนละ 27,000 บาทขึ้นไป


การขยายตัวของนักท่องเที่ยวไทยอาจจะทำให้หลายอุตสาหกรรมได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน เว็บไซต์จองโรงแรม บริษัทรับประกันการเดินทาง ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และบัตรเครดิต แต่บางอุตสาหกรรม อย่างเช่น ร้านค้าปลีก และร้านอาหาร อาจจะต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมการบริโภคที่อาจจะเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะการเดินทางทำให้ผู้บริโภคได้ลองสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีในประเทศของตัวเอง ยิ่งเดินทางมากขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการของลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เหมือนดังสุภาษิตจีนที่ว่า บุรุษผู้กลับมาจากการเดินทาง เขาจะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป