เรื่องเล่าจาก “วิรไท” ผู้ว่าแบงก์ชาติ…การสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย หลัง 2 ก.ค. 40

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อใกล้จะถึงวันที่ 2 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 หลายคนคงอดคิดไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสกลับไปมีปัญหาวิกฤตเหมือนวันนั้นหรือไม่ ยิ่งในช่วงกลางปี 2561 นี้ ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ประสบความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตุรกีและอาร์เจนตินา ต่างประสบภาวะเงินทุนไหลออกรุนแรงเพราะภาวะการเงินโลกเริ่มตึงตัวขึ้น และนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งจึงได้รับผลกระทบรุนแรง ในกรณีของอาร์เจนตินาถึงกับต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF สูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ.

ประเทศไทยได้รับบทเรียนจากปี 2540 และได้เดินผ่านจุดดังกล่าวมาไกลแล้ว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราได้ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาก เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความมั่นคงและดีกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่โดยรวม ยกตัวอย่างเช่นดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งสะท้อนความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ปีที่แล้วเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 11.2 ของ GDP หรือประมาณ5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. และปีนี้คาดว่าจะเกินดุลถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต่างจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 ที่เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันหลายปี เงินสำรองระหว่างประเทศของเราก็มีความมั่นคงสามารถเป็นกันชนรองรับแรงปะทะจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกได้เป็นอย่างดี เงินส่ารองระหว่างประเทศของไทยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2.1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. (ไม่รวมฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิจำนวนประมาณ 33 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งมากกว่าหนี้ต่างประเทศโดยรวมที่1.5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็น 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

ด้านหนี้ต่างประเทศโดยรวมปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 35 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 70 ในช่วงปี 2540 นอกจากนี้การถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดพันธบัตรทางการทั้งหมด ความเสี่ยงในกรณีของไทยที่เงินทุนไหลออกจะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจจึงต่ำกว่าประเทศอื่นซึ่งพึ่งพิงนักลงทุนต่างชาติในสัดส่วนสูงกว่า บางประเทศรอบบ้านของเรามีนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรสูงกว่าร้อยละ 30 จึงอ่อนไหวในเวลาที่ตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้น

ในด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ หลังจากปี 2540 นโยบายการเงินของไทยเปลี่ยนมาใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ควบคู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ไม่สร้างความบิดเบือนในระบบอัตราแลกเปลี่ยน และไม่สร้างผลข้างเคียงในระบบเศรษฐกิจเหมือนกับตอนที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในช่วงปี 2540 โดยในกรอบปัจจุบัน ธปท. จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่ค่าเงินผันผวนสูงผิดปกติจนอาจกระทบกับภาคเศรษฐกิจจริง สำหรับการตัดสินนโยบายการเงินจะประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้นโยบายการเงินเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศไทยมากที่สุด

ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการเงินเราขาดแคลนกลไกหลายด้านในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราได้จัดตั้งหน่วยงานและกลไกต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นต้น

หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ส่านักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประสานความร่วมมือกันใกล้ชิดมากกว่าเดิมมาก ตลอดจนมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกันยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

เช่น มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (CMIM) ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีโครงสร้างที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเงิน ตั้งแต่การมีระบบข้อมูลที่ดี การแจ้งเตือนเพื่อป้องกันวิกฤต ตลอดจนมีระบบที่พร้อมแก้ไขสถานการณ์หากเกิดวิกฤตขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ภาคธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน ดูจากผลประกอบการที่ดี ความสามารถในการแข่งขัน ธรรมาภิบาล และมีการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้นจากทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้ และตราสารทุน นอกจากนี้ผู้บริหารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น โดยลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อหนี้เกินตัว สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ของภาคธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ 1.2 เท่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งมี D/E ratio สูงถึง 5 เท่า และขณะนี้ไม่ได้พึ่งพิงเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศจนเกิดปัญหา currency mismatchเหมือนกับช่วงก่อนปี 2540

ท้ายที่สุด สถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งกว่าเดิมมาก สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 45.0 เมื่อปี 2542 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อีกทั้งสถาบันการเงินมีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดี

อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 18.0 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค อีกทั้งธปท. ได้นำเกณฑ์กำรก ำกับดูแลสำกล (Basel III) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงมากขึ้น อาทิ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (liquidity coverage ratio : LCR)

นอกจากนี้“ธรรมาภิบาล” (good governance) เป็นประเด็นที่ทั้ง ธปท. และผู้บริหารของสถาบันการเงินต่างให้ความสำคัญมากเพื่อให้ระบบการเงินไทยมีการบริหารจัดการที่ดีอาทิ การมีโครงสร้างคณะกรรมการที่ดีและมีคุณสมบัติเหมาะสม การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการดูแลความเสี่ยง การจัดทำแผนล่วงหน้ารองรับการจัดการดูแลแก้ไขปัญหา (recovery plan) เป็นต้น ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561นี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าร่วมการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP) ที่จัดทำโดย IMF และ World Bank ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวจะช่วยให้เราทราบว่ามีจุดอ่อนเรื่องใดบ้างที่
ต้องแก้ไขเพิ่มเติม

เรียนรู้จากอดีต ตื่นตัวกับปัจจุบัน พร้อมรับควำมท้ำทำยในอนาคต

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีเสถียรภาพเข้มแข็งและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกน้อยกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ แต่ทุกคนไม่ควรประมาท บทเรียนในอดีตจากวิกฤตปี 2540 สอนเราว่าความประมาทสามารถสร้างความเสียหายได้มากมายเพียงใด เราต้องลดจุดเปราะบางในระบบการเงินเช่น การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และเตรียมรับความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยความเสี่ยงที่สำคัญในปัจจุบันคือ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกจะตึงตัวมากขึ้น

จากการที่ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่ตอบโต้กันระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลงและตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงควรวางแผนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีเครื่องมือทางการเงินหลายชนิดที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้


ท้ายที่สุด ในวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นและมีเสถียรภาพที่เข้มแข็ง เราต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายมิติเพื่อลดจุดเปราะบางที่เหลืออยู่ และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน คุณภาพการศึกษา ผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ในระบบเศรษฐกิจโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สำหรับอนาคตแล้วปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่าเสถียรภาพด้านการเงิน