พลังงานต่อแถวกองอินฟราฯ BRRGIF-SUPERประเดิมโกย 1.3 หมื่นล้าน

ตลาดหลักทรัพย์ฯชี้กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน จ่อตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เผยปีนี้มี บจ. 2 ราย ระดมเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ด้านบิ๊กบอส “ซุปเปอร์บล๊อก” จ่อยื่นไฟลิ่งปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. 60 ฟาก BRRGIF ประเดิมออกอินฟราฯโรงไฟฟ้าชีวมวลกองแรก พร้อมเข้าจดทะเบียนช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนหลายราย สนใจที่จะระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) ซึ่งตอนนี้มีบริษัทที่ยื่นขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว จำนวน 1 ราย ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) และคาดว่ายังมีอีก 1 รายที่จะยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในช่วงเร็ว ๆ นี้

สาเหตุที่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนเข้ามาระดมทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนในโครงการที่เหลืออื่น ๆ หรือโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยกองทุนนี้จะเป็นการนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะจะต้องมีการนำโครงการที่เริ่มดำเนินงานแล้ว และจะมีกระแสเงินสดเกิดขึ้นในอนาคตมาขายเข้ากองทุน ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในอนาคต

ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) มีการจัดตั้งกองทุนอินฟราฯแล้ว 5 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF), 2.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ABPIF), 3.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF), 4.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) และ 5.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF)

นายสันติคาดว่า จะเห็นธุรกิจพลังงานทดแทนเข้ามาระดมทุนกันเพิ่มมากขึ้น เพราะหลายโปรเจ็กต์เริ่มมีการเดินหน้าขายไฟแล้ว เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจพลังงานทดแทนได้รับความสนใจอย่างมาก

“ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงในการเข้าระดมทุนของกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน เพราะหากคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เราก็คงไม่ปล่อยผ่านให้เข้าไปจดทะเบียนได้ เราเชื่อว่าการเข้าระดมทุนของกลุ่มพลังงานทดแทนที่มีสัญญาณเพิ่มมากขึ้นไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีที่อาจทำให้กระแสเงินทุนเริ่มฝืดเคือง แต่เป็นเพราะความต้องการนำเงินไปลงทุนในโปรเจ็กต์อื่น ๆ มากกว่า” นายสันติกล่าว

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) กล่าวว่า บริษัทเตรียมระดมทุนด้วยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) มูลค่าประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท ซึ่งจะยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงปลายเดือน ส.ค. ถึงต้นเดือน ก.ย.นี้ และคาดว่าจะเสนอขายได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยสินทรัพย์ที่จะนำเข้ากองทุนนั้นคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ของบริษัท มีกำลังการผลิตรวม 100-120 เมกะวัตต์

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้น ส่วนหนึ่งบริษัทจะนำไปชำระหนี้ซึ่งปัจจุบันมีมูลหนี้กับธนาคารกรุงเทพประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท และที่เหลือจะนำไปใช้ขยายโครงการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 450-500 เมกะวัตต์ จึงคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1.6-1.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในมือที่มีอยู่ (PPA) 809 เมกะวัตต์ โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 735.6 เมกะวัตต์

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) กล่าวว่า กองทุน BRRGIF น่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ภายหลังจากที่เปิดเสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไปในช่วงระหว่างวันที่ 7-27 ก.ค.ที่ผ่านมาในราคาจองซื้อที่หน่วยละ 10.30 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน โดยถือเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าชีวมวลกองแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีขนาดกองทุนประมาณ 3,605 ล้านบาท