พ.ค.เศรษฐกิจแจ่ม-เฟ้อเร่งตัว สศค.ส่งซิก Q2 โตสูงเกินคาด

“แบงก์ชาติ-คลัง-กสิกรฯ” ประสานเสียงเศรษฐกิจไทย พ.ค.โตแจ่ม ธปท.มองแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มกระจายตัว เผยเงินเฟ้อเร่งตัวต่อเนื่อง สศค.ลุ้นไตรมาส 2 โตดีกว่าคาด เตรียมปรับสมมุติฐานค่าเงินบาทใหม่ หลังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯปรับจีดีพีปีนี้โตมากขึ้นที่ 4.8%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. 2561 ถือว่าเป็นภาพที่ดี เพราะในภาพรวมขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวสูงถึง 13.1% โดยทั้งปีคาดจะโตได้ 9% ขณะที่การบริโภคเอกชนก็ขยายตัวชัดเจนขึ้น จากแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตร และรายได้รวมลูกจ้างนอกภาคเกษตร

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ขยายตัวได้ดี โดยในเดือน พ.ค. การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่เกือบ 70% แล้ว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ หากไม่รวมเงินโอนก็ขยายตัวดีขึ้นที่ 9.9% มาจากรายจ่ายประจำขยายตัว 11% แต่รายจ่ายลงทุนยังขยายตัวต่ำแค่ 2% ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นอย่างไร

ส่วนการลงทุนเอกชนขยายตัวดีขึ้น และน่าจะดีได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างที่เคยเป็นตัวฉุดมาตลอด ก็เริ่มขยายตัวเป็นบวก และเมื่อมองแนวโน้มไปข้างหน้า ถ้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐออกได้เต็มที่ ก็น่าจะฉุดภาคก่อสร้างเอกชนให้ไปต่อได้ ขณะที่หมวดเครื่องมือเครื่องจักรก็ขยายตัวได้ตามการส่งออก

ด้านอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.เร่งตัวขึ้น โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.49% ซึ่งคาดว่าในวันที่ 2 ก.ค.นี้ น่าจะได้เห็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือน มิ.ย. ที่กระทรวงพาณิชย์จะแถลงสูงกว่า 1.49% ขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่เงินเฟ้อจะเข้าสู่ค่ากลางได้เร็วกว่าคาดหรือไม่ ยังต้องติดตาม

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น แม้ล่าสุดจะอ่อนค่าทะลุ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แต่ก็อยู่ระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค และถือว่าแข็งค่ามากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าในเดือน พ.ค. เนื่องจากมีการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศ ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ถือว่าค่อนข้างสมดุลในเดือน พ.ค.

“ภาพรวมเศรษฐกิจเดือน พ.ค.เป็นภาพที่ดี โดยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ภาคต่างประเทศยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในประเทศเราก็เห็นขยายตัวชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ และการกระจายตัวก็เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามพัฒนาการอยู่ อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าก็มีทิศทางดีขึ้น ดูจากราคาสินค้าเกษตร และการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยจากรัฐ” นายดอนกล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในเดือน ก.ค.จะเป็นรอบการประกาศตัวเลขอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของ สศค.โดยเบื้องต้นยังคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ 4.5% ต่อปี ตามที่ได้ปรับประมาณการเป็นการภายในไปก่อนหน้านี้ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงถึง 4.8%

ส่วนแนวโน้มไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะไม่สูงเท่าไตรมาสแรก แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวสูง หลังล่าสุด ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนจากการลงทุนภาคเอกชน ส่วนรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ 9% สูงสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งคาดว่าการบริโภคในระดับฐานรากจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

“เศรษฐกิจไตรมาส 2 คงขยายตัวได้ไม่สูงเท่าไตรมาสแรก แต่เนื่องจากตัวชี้วัดในเดือน พ.ค.ส่งสัญญาณที่ดีกว่าปกติ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าไตรมาส 2 ก็จะขยายตัวได้ค่อนข้างสูงกว่าที่คาด” นายพรชัยกล่าว

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.มีการกระจายตัวดีขึ้นในภาคเกษตรและในแง่ภูมิภาค ขณะที่การส่งออกก็ยังเป็นบวกที่ 6.5% ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้สูงเดิมที่คาดไว้ที่ 8%นอกจากนี้ สศค.จะปรับสมมุติฐานค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าเดิม โดยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะประมาณกว่า 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้านี้คาด 31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีเงินทุนไหลออกจากหุ้นและตราสารหนี้ระยะสั้นที่เป็นลักษณะ “ฮอตมันนี่” เป็นหลัก

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4.5% จากเดิมคาด 4% เนื่องจากภาพรวมมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น จากหลายปัจจัย ทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นที่ 3.5% จากเดิม 3% การบริโภคเอกชนที่ดีขึ้นเป็น 3.5% จาก 3% รวมถึงการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.8% จาก 4.5%

“ปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังเติบโตในแนวกว้างมากขึ้น ได้แก่ ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องอยู่แล้ว และการลงทุนภาคเอกชนและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น” นางสาวณัฐพรกล่าว