ทองคำ…ยักษ์หลับ แห่งสินค้าโภคภัณฑ์

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย วิศรุต จารุอนันตพงษ์ ที่ปรึกษาการลงทุน ทิสโก้ เวลธ์

ในช่วงที่ผ่านมาทองคำเหมือนจะเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่นักลงทุนจำนวนมากพยายามจะหลีกเลี่ยง

โดยในปี 2018 นี้ ราคาทองคำทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 1,360 เหรียญ/ออนซ์ และจุดต่ำสุดที่ราคาปัจจุบันบริเวณ 1,280 เหรียญ/ออนซ์ คิดเป็นการปรับตัวลดลงราว 6% จากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือว่าจะเป็นการที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงความพยายามลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่เคยใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 13 มิถุนายน 2018 เป็น 1.75-2.00% หรือการปรับขึ้น +0.25% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ของปี และมีการส่งสัญญาณว่าในปีนี้อาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในวันถัดมามีการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และได้ประกาศว่าอาจจะลดการใช้นโยบาย Qualitative Easing หรือ QE จาก 30,000 ล้านยูโรต่อเดือน เหลือเพียง 15,000 ล้านยูโรต่อเดือน ในช่วงเดือนตุลาคม 2018 เป็นต้นไป หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น และจะสิ้นสุดการใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงสิ้นปีนี้ อีกทั้งนักวิเคราะห์ทั่วโลกยังคาดว่า ยุโรปจะเริ่มการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงกลางปีหรือสิ้นปี 2019 ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และลดสัดส่วนการลงทุนในทองคำลง

ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นนั้นสะท้อนมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลลบต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม ด้านบทวิเคราะห์จาก World Gold Council ระบุว่า ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นขาขึ้นอย่างในปัจจุบัน ไม่ได้มีผลลบต่อการบริโภคทองคำในธุรกิจจิวเวลรี่และเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 63% ของความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2017

นอกจากนี้ในเชิงทฤษฎีแล้ว ทองคำถูกจัดว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ซึ่งราคามักจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอน อาทิ สงคราม หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ทองคำจึงถูกใช้เป็นสินทรัพย์ลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม แล้วถ้าเราลองหันไปมองในสถานการณ์ปัจจุบัน เหตุการณ์ที่อาจจะเป็นผลบวกต่อราคาทองคำก็อาจจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน และการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของทั่วโลกจากการเร่งตัวขึ้นของค่าแรง และราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราการว่างงานที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งประเด็นเรื่องการเร่งตัวขึ้นของอัตรางานเฟ้อในไตรมาสที่ 3 อาจเป็นประเด็นในการช่วยดันราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่จะช่วยรักษาอำนาจซื้อ (purchasing power) ของนักลงทุน และยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันผลตอบแทน 10 year US treasury ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3% ในทางกลับกัน การที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจะส่งผลให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (real yield) ปรับตัวลดลง (real yield = nominal yield – infla-tion) ซึ่งในภาวะดังกล่าว ราคาทองคำมักจะปรับตัวขึ้นได้ดี ซึ่งสอดคล้องกับบทวิเคราะห์จาก World Gold Council รวมถึงในปี 2017 ความต้องการทองคำในธุรกิจจิวเวลรี่ของหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 (กราฟ)

ด้วยเหตุผลข้างต้น เราแนะนำเริ่มทยอยสะสมการลงทุนในทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยง ในช่วงไตรมาสที่ 3 โดยสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ และไม่สะดวกในการไปซื้อทองคำที่ร้านทอง ก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนทองคำที่มีสภาพคล่องในการซื้อ-ขาย และควรเลือกลงทุนกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนครับ