การไหลออกของต่างชาติ ในตลาดตราสารหนี้ไทยน่ากังวลไหม

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ศิรินารถ อมรธรรม สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ในวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นจากเดิม 1.25-1.50% เป็น 1.75-2.00% โดยการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยสะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา อันเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับเงินเฟ้อ (PCE) ของสหรัฐ ที่แตะระดับ 2% ในเดือนเมษายน อีกทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE) ของสหรัฐ ในปี 2018 ขึ้นไปที่ 2.1% จากเดิม 1.9%

หลังจากนั้นก็มีประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนเกิดขึ้นอีก นักลงทุนต่างชาติจึงขายสุทธิตราสารหนี้ไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าต่างชาติจะขายตราสารหนี้ไทยออกมาค่อนข้างมาก fund flow ของนักลงทุนต่างชาติสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ วันที่ 18 มิ.ย. 61 ในตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเป็นการซื้อสุทธิกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาว 9.5 หมื่นล้านบาท และขายออกในตราสารหนี้ระยะสั้น 6.7 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยรวม 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งกว่า 87% ของยอดการถือครองของต่างชาติอยู่ในตราสารหนี้อายุมากกว่า 1 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินที่มีจุดประสงค์ลงทุนระยะยาว

ในช่วงที่ผ่านมา fund flow ของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยอาจมีความผันผวนตามปัจจัยต่างประเทศ แต่การขายพันธบัตรของต่างชาติในช่วงนี้เป็นการขายในพันธบัตรระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งมีแนวโน้มว่าเมื่อสถานการณ์ความกังวลผ่อนคลายลง fund flow ก็อาจไหลเข้าอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือมูลค่าการขายออกในช่วงนี้เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย และมูลค่าการถือครองทั้งหมดของต่างชาติจึงไม่น่ากังวล โดยในระยะยาวมีความเชื่อมั่นว่านักลงทุนต่างชาติยังมีมุมมองที่เป็นบวกกับการลงทุนในประเทศไทย จากการที่ยังคงสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวในสัดส่วนที่สูง และอายุเฉลี่ยของพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากต้นปี (ต้นปีอายุเฉลี่ยที่ 6.29 ปี เพิ่มเป็น 7.28 ปี)

นี่คือมุมมองของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยที่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของสมาคม เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมาท่ามกลางกระแสการไหลออกของต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นับจากวันที่ 19 มิ.ย.มาอีกหนึ่งสัปดาห์ จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอการขายตราสารหนี้ไทยลง และกลับเข้าซื้อสุทธิแล้วเมื่อวันที่ 26-27 มิ.ย. รวม 4,559 ล้านบาท ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ทำให้ยอดการลงทุนของต่างชาติสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 27 มิ.ย. 61 เป็นการซื้อสุทธิรวม 8,792 ล้านบาท และยอดการถือครองตราสารหนี้ไทยรวม 8.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.1% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย สถานการณ์การลงทุนของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยน่าจะช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนลงได้บ้าง โดยอีกประเด็นที่น่าติดตามก็คือ ความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รุ่นอายุ 10 ปี และ 2 ปี (2-10 spread) ที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ มาอยู่ที่ 0.31% จากต้นปีที่ 0.62% โดยค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2002 อยู่ที่ 1.5% ซึ่ง 2-10 spread จะใช้สะท้อนการคาดการณ์เงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจในอนาคต ถ้าส่วนต่างนี้มีค่าต่ำมาก ๆ หรือติดลบก็มักจะสะท้อนถึงการคาดการณ์ต่อเศรษฐกิจในอนาคตที่ไม่ค่อยจะสดใสนัก ในอดีตที่ผ่านมาก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรอบต่าง ๆ 2-10 spread นี้ก็มักจะมีค่าต่ำมาก


ดังนั้นนอกจากกระแสเงินลงทุนของต่างชาติแล้ว 2-10 spread จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนควรติดตาม สำหรับประเทศไทยสบายใจได้ 2-10 spread อยู่ที่ 1.08% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2002 ที่ 1.24%