“ภูมิศักดิ์” แม่ทัพบริหารหนี้รัฐ รับมือดอกเบี้ยขาขึ้น-บาทแกว่ง-ขาดดุลงบฯ

สัมภาษณ์

ก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จากคราว “โยกย้ายกลางฤดู” โดยเริ่มรับตำแหน่งทางการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา หลังเริ่มเข้าที่เข้าทาง “ภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข” ผู้อำนวยการ สบน.คนใหม่ จึงเปิดโอกาสให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยถึงแนวนโยบายในการบริหารหนี้สาธารณะในระยะข้างหน้า

พัฒนาเครื่องมือใหม่บริหารหนี้

โดย “ภูมิศักดิ์” บอกว่า ได้มอบนโยบายเจ้าหน้าที่ สบน.ว่า ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ อย่างเรื่องบล็อกเชนที่จะใช้ในการจำหน่ายพันธบัตร ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังพัฒนาระบบ และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะเปิดตัวโครงการต่อไป ขณะเดียวกันก็ให้นโยบายให้บริหารหนี้โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน

“เครื่องมือทางการเงินต้องทันสมัย เพราะว่าตอนนี้ก็ไปกันไกลถึงพวกบล็อกเชนอะไรต่าง ๆ แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็กำลังพัฒนากันอยู่ ส่วนจะเปิดตัวเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากันอีกที” นายภูมิศักดิ์กล่าว

รับมือดบ.ขึ้น-ค่าเงินผันผวน

“ภูมิศักดิ์” กล่าวถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขาขึ้นว่า แนวโน้มดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง แต่ทาง สบน.มีการบริหารจัดการพอร์ตหนี้ กระทั่งปัจจุบันหนี้ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นหนี้ระยะยาว ซึ่งล็อกต้นทุนดอกเบี้ยไว้หมดแล้ว ส่วนหนี้ระยะสั้น 1-3 ปี มีน้อยมาก และยังมีเวลาที่จะบริหารจัดการได้ ดังนั้น จึง “ไม่น่าเป็นห่วง”

ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลต่อการบริหารหนี้นั้น “ภูมิศักดิ์” ระบุว่า ต้องดูในส่วนของหนี้ต่างประเทศ โดยเมื่อพิจารณาแล้ว ปัจจุบันหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลก็อยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากที่ผ่านมาทาง สบน.ได้บริหารจัดการเพื่อ “ปิดความเสี่ยง” อย่างต่อเนื่อง รวมถึงในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ก็ยังมีมาตรการอนุญาตให้ต่างชาติออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาท (บาทบอนด์) โดยให้สามารถสวอปเป็นเงินตราต่างประเทศได้

“ที่ผ่านมาเรามีทั้งการทำสวอป เปลี่ยนเรต กู้เสร็จแล้วก็เปลี่ยนเรต ช่วงที่บาทแข็งก็พยายามเร่งคืนหนี้ แต่หนี้บางส่วนปัจจุบันก็ยังไม่ครบดีล (ครบกำหนดชำระ) ก็ยังรอเวลาได้ คือยังบริหารจัดการได้หมด ดังนั้นการบริหารหนี้ช่วงนี้ไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วงมากนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ก็ค่อนข้างมั่นคง” นายภูมิศักดิ์กล่าว

สำหรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานผลการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2561 ไป ซึ่งมียอดหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 6,454,168.89 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ซึ่ง “ภูมิศักดิ์” บอกว่า แผนบริหารหนี้ ปี 2561 เหลืออีกแค่ 1 ไตรมาสก็จบปีงบประมาณ ดังนั้นคงไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการ ซึ่งแม้จะมีวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหลังจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมกลางปีเพิ่มเป็น 550,358.10 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ ได้อนุญาตให้สามารถกู้ชดเชยขาดดุลเหลื่อมปีได้ จึงไม่จำเป็นต้องกู้เต็มวงเงินขาดดุลทั้งหมด

“ตอนสิ้นปีงบประมาณก็ไม่ต้องกู้มากองไว้ในเงินคงคลังแล้ว เนื่องจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่เปิดให้สามารถกู้เหลื่อมปีได้ ซึ่งก็ช่วยให้ยืดหยุ่นขึ้นมาก” นายภูมิศักดิ์กล่าว

ทำแผนบริหารหนี้ปีงบ”62

ส่วนภารกิจที่กำลังดำเนินการ “ภูมิศักดิ์” เล่าว่า กำลังจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 นี้ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงประชุมหารือ ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 จะมีรายการกู้เงินที่สำคัญก็คือ การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท ถือว่าไม่ได้มาก เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ส่วนวงเงินแผนบริหารหนี้ในภาพรวมก็น่าจะใกล้เคียงกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 1,760,147.04 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ สบน.คนใหม่ยืนยันว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งทำโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แต่จากการคาดการณ์ ระดับหนี้สาธารณะในระยะข้างหน้าจะยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50% ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ไม่เกิน 60% ของ GDP ดังนั้นจึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ส่วนการที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้วนั้น ผู้อำนวยการ สบน.มองว่า ในระยะแรกอาจต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับตัว แต่มองระยะยาวแล้วเป็นเรื่องที่ดี เพราะต่อไปหากจะมีการกู้เงินไปใช้ทำโครงการ ต้องพิสูจน์ได้ว่าโครงการคุ้มค่า และมีประโยชน์ต่อประเทศชาติในภาพรวม