ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จากแรงหนุนภาคธุรกิจที่แข็งแกร่ง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/7) ที่ระดับ 33.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (2/7) ที่ 3.14/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาณ์สหรัฐยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM พุ่งขึ้นสู่ระดับ 60.2 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ 58.7 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สูงสุดตั้งแต่เดือนเมษายน ในขณะเดียวกันความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้ายังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในหลายประเทศ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนและจีนปรับตัวลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของญี่ปุ่นไตรมาส 2 ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการที่นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์การขัดแย้งทางการค้า เนื่องจากสหรัฐมีพื้นฐานตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมิถุนายน และรายงานการประชุมประจำเดือนมิถุนายนองธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันศุกร์นี้ (6/7) ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.17-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (3/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1627/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/7) ที่ 1.1642/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนี หลังจากนายฮอร์สท์ ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนร่วงลงสู่ระดับ 54.9 ในเดือนมิถุนายน จาก 55.5 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรแข็งค่าึ้นเล็กน้อยในช่วงบ่าย หลังจากที่ประเทศเยอรมนีสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายผู้อพยพ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1639-1.1673 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1661/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (3/7) เปิดตลาดที่ระดับ 111.07/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/7) ที่ 110.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังดัชนีความเชื่อมมั่นภาคธุรกิจ (Tankan) ของญี่ปุ่น ปรับลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 จากระดับ 24 มาที่ระดับ 21 สะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจในญี่ปุ่นมีความวิตกกังวลจากประเด็นความขัดแย้งทางการค้า นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ยังเป็นปัจจัยหนุนตัวดอลลาร์ให้แข็งค่า ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.76-111.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.94/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนจับตามองในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐ (2/7), ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน (4/7), รายงานการจ้างงานภาคนอกการเกษตรจากเอดีพีสหรัฐ (5/7), รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (6/7), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐ (6/7), ค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงสหรัฐ (6/7) และอัตราการว่างงานสหรัฐ (6/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.65/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.25/+1.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ