ช่วยเอสเอ็มอี…รอด ?

คอลัมน์ มุมคิดคนข่าว

โดย ดิสก์ ประชาชาติฯ [email protected]

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ จึงทำให้เรายังเห็นกลุ่มคนไทยที่ยัง “ยากลำบาก” อยู่ (ขอยืมคำของอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ขุนคลังมาใช้) ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มคนระดับ “ฐานราก” ของประเทศ โดยในมุมของการทำธุรกิจย่อมหมายถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นั่นเอง

ทั้งนี้ การเดินทางไปเยือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีและทีมงานในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ได้เห็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่ากังวลในส่วนของหนี้เสียของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้น

โดย “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติเองก็ยอมรับว่า เอสเอ็มอีกลุ่มที่เป็นหนี้เสียมากขึ้น เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการแข่งขันลดลง

เราจึงได้เห็นภาพที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพยายามออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอยู่ในขณะนี้ อย่างล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติให้ปรับปรุงโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ก่อนหน้านี้ “นิธิศ มนุญพร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. แถลงผลดำเนินงานครึ่งแรกปี 2560 ว่า จากเป้าหมายออกหนังสือค้ำประกัน (LG) ทั้งปี 8.8 หมื่นฉบับ ทำได้แล้ว 5.4 หมื่นฉบับ เป้าหมายลูกค้ารายใหม่ 6.7 หมื่นราย ทำได้แล้ว 4.7 หมื่นราย ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่การช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ เพราะทำได้มากกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม ในแง่ยอดค้ำประกันที่ตั้งเป้าหมายภาพรวมทุกโปรดักต์ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท ยังทำไปได้แค่ราว 2.9 หมื่นล้านบาท และยิ่งไปกว่านั้นโปรดักต์ PGS6 ที่มีวงเงินทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท จนถึง ณ สิ้น มิ.ย. 2560 ยังค้ำประกันไปได้แค่ 1.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การเสนอ ครม.ปรับปรุง PGS6 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลทุ่มงบประมาณเพิ่มเติมช่วยชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปีแรก เป็นเงิน 3,240 ล้านบาท และชดเชยค่าประกันชดเชยความเสียหายเพิ่มขึ้นจาก 23.75% เป็น 30% ตลอดระยะ 10 ปี อีก 5,062.50 ล้านบาท

นอกจากนี้ สิ่งที่มีการตกลงไว้กับทางสมาคมธนาคารไทย ก็คือ เดี๋ยวทางแบงก์ต่าง ๆ จะออกโปรดักต์สินเชื่อของตัวเอง โดยจะมีการลดดอกเบี้ย และช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ลูกค้าเอสเอ็มอีของตัวเอง

เท่าที่คุยกับทาง บสย. งานนี้แบงก์น่าจะพอใจ เพราะมีรัฐมาช่วยแบกรับความเสี่ยงให้ ซึ่งดูจากไส้ในที่กำหนด “ความรับผิดชอบจ่ายค่าประกันชดเชยในแต่ละ Portfolio” หรือ Coverage Ratio per Port สูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 30% นั้น ถ้าเกิดหนี้เสียไม่เกิน 20% รัฐบาลจะรับภาระไป 100% ขณะที่หากเกิดหนี้เสียมากกว่า 20% แต่ไม่เกิน 39% รัฐบาลจะรับภาระ 50% และหากเกิดหนี้เสียมากกว่า 39% แต่ไม่เกิน 40% ทาง บสย.จะรับผิดชอบ 50%

จะเห็นได้ว่าโปรดักต์ถูกออกแบบมาให้รองรับหนี้เสีย (NPL) ได้ถึง 40%

แถมการช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปี ซึ่งรวมแล้ว 4% (ปีแรกรัฐช่วย 1.75% ปีที่สองรัฐช่วย 1.25% ปีที่สามรัฐช่วย 0.75% และปีที่สี่รัฐช่วย 0.25%) ก็ยังเป็นการช่วยจูงใจเอสเอ็มอีให้ตัดสินใจขอใช้การค้ำประกันสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

งานนี้ “นิธิศ” ประเมินว่า ในช่วงที่เหลืออีกแค่ราว 5 เดือนของปี 2560 นี้ น่าจะสามารถผลักดันยอดค้ำประกันได้อีก 6-7 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่เหลืออีก 8.1 หมื่นล้านบาท และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 แสนคน

หวังว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยประคองธุรกิจเอสเอ็มอีให้ก้าวพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ และคุมหนี้เสียไม่ให้พุ่งมากเกินไป