เปิดไส้ในแต่งตัว “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” หอบแข้งทองเข้าตลาดหุ้นกลางปี’62

ธุรกิจสโมสรฟุตบอลเป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดกว้างให้เข้ามาจดทะเบียนได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็เป็นรายแรกที่จะนำบริษัท “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” เข้าตลาดหุ้นไทย

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารของธนาคารธนชาตผู้นำธุรกิจเช่าซื้อรถรายใหญ่ ได้จัดกิจกรรม “Thank”s Exclusive Speedy Trip” นำสื่อมวลชนมายัง จ.บุรีรัมย์ และนำเข้าชมการแข่งขันรายการ Super GT 2018″ การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบจากญี่ปุ่น ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็น 1 ใน 8 สนามที่ใช้ดวลความเร็วกันระดับโลก และค่ำ ๆ ชมการแข่งขันโตโยต้าไทยลีก 2018 Super Big Math ระหว่าง “ปราสาทสายฟ้า” หรือ Thunder Castle บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด VS “แข้งเทพ” ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด (ชิงผู้นำจ่าฝูง) ณ สนามธันเดอร์ คาสเซิล สเตเดียม ต่อด้วยกิจกรรม Meet & Greet นักเตะดาวเด่นของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และมี “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เข้าร่วมด้วย

งานนี้ นายเนวินในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รวม 50% (นายเนวินและครอบครัว) ได้มาพูดคุยกับสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจและการเงิน ถึงเรื่องความคืบหน้าในการนำบริษัทบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเอ็มเอไอว่าที่ผ่านมาบริษัทได้ว่าจ้างบริษัทสำนักงานอีวายเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อจัดทำบัญชีให้เป็นมาตรฐานและโปร่งใส ซึ่งบริษัทประกอบการธุรกิจที่ไม่เหมือนคนอื่น ทำให้ยังมีบางเรื่องที่ยังทำไม่ได้เลย เช่น การประเมินมูลค่าค่าตัวนักเตะ ซึ่งในต่างประเทศที่เอาสโมสรเข้าตลาดหุ้นก็ไม่มีวิธีคำนวณ จึงเป็นของใหม่ของตลาดหุ้นไทย การตัดค่าเสื่อมลิขสิทธิ์ตัวนักเตะ การประเมินมูลค่าแบรนด์จะคำนวณจากยอดคนดูอย่างไร เพราะมีทั้งคนดูในสนามและดูออนไลน์ที่จำนวนมากอีก

“การเข้าตลาดหุ้นก็มีผลต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมาก เพราะบริษัทต้องซับซิไดซ์ภาษีให้แก่นักเตะที่ได้เงินเดือนด้วย ทำให้ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 1.5 เท่า เหนื่อยมาก แต่ว่าต้องทำใจ เราเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้เราก็ต้องทำทุกอย่างให้เข้าระบบ พอบริษัทเป็นมหาชนโครงสร้างทุกอย่างจะแข็งแรง เราอยู่ไม่อยู่มันก็เดินของมันไปได้ ซึ่งสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดมีแฟนคลับที่เป็นคนบุรีรัมย์ถึง 60% และ 40% เป็นคนทั่วประเทศ เราไม่เหมือนสโมสรอื่น เพราะฉะนั้น โครงสร้างเราแข็งแรงมาก สิ้นปีนี้เราน่าจะทำกำไรได้ซัก 50 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาขาดทุน”

ทั้งนี้ ผลดำเนินงานของปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 900 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนขาดทุนสะสมอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท

เขากล่าวว่า หลังแต่งตัวโครงสร้างบริษัทเสร็จและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเรียบร้อย ก็คาดว่าบริษัทน่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ราวไตรมาส 2 ปีหน้า (ปี 2562) โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัสเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

“ปัจจุบันเรามีทุนจดทะเบียนอยู่ 200 ล้านบาท จะเพิ่มทุนเข้าตลาดหุ้นเอ็มเอไอประมาณ 100 ล้านบาท จะเอามาใช้เป็นเงินทุนหมนุเวียนภายใน ผมมีเรื่องให้ทำอีกเยอะอีเวนต์ต่าง ๆ เพราะจะไม่ทำแค่สปอร์ตอย่างเดียว ต่อไปเราจะทำเป็น Sport Entertainment ตัวสเตเดียม ผมจะจัดทำเป็นเวิลด์คอนเสิร์ตด้วย สิ่งที่อยากทำอีกคือ แอดเวนเจอร์สปอร์ต เพื่อให้คนมาที่นี่ อีกอันที่จะทำศูนย์ฟื้นฟูกายภาพบำบัดสำหรับคนทั่วไป ทุกวันนี้นักกีฬานักฟุตบอลที่บาดเจ็บมาที่นี่กันเพราะเรามีทีมหมอที่เชี่ยวชาญ ส่วนเงินที่อยากระดมทุนได้เท่าไหร่ไม่บอก ทุกอย่างที่คิดได้เดี๋ยวเงินก็มาเอง”

พร้อมแจกแจงว่า จะขยายอาณาจักรธุรกิจไปเป็น “สปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์” ซึ่งจะมีทั้งอีสปอร์ตที่จะเห็นในปีนี้ การทำศูนย์กายภาพบำบัดสำหรับคนทั่วไป น่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2563 และจะทำอะคาเดมีเป็นศูนย์ฝึกอบรมนักฟุตบอลระดับอาเซียนด้วย ขณะนี้มีนักฟุตบอลจีนเสียตังค์มาอะคาเดมีนี้แล้ว

สำหรับรายได้หลักของบริษัทมาจากการจำหน่ายเสื้อฟุตบอลและของที่ระลึกสัดส่วนกว่า 40% รายได้จากค่าตั๋ว 20% ส่วนที่เหลือ 40% เป็นรายได้จากสปอนเซอร์ ค่าเช่าพื้นที่การจัดอีเวนต์ อื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีคนซื้อตั๋วเข้ามาดูการแข่งขันในสนามเฉลี่ย 1.2-1.3 หมื่นคน ลดลงจากปีก่อน ๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นคน เพราะคนหันไปดูทางออนไลน์ทางโซเชียลมีเดียกันมากกว่า ประหยัดเงิน ซึ่งพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไปสู่โลกโซเชียล บริษัทจึงชูธุรกิจ “อีสปอร์ต” ทำเกมออนไลน์ขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้ที่คาดหวังจะเติบโตสูงตามกระแส โดยจะมีทีมนักเตะของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเองและอนาคตจะเห็นอีสเตเดียมเป็นพื้นที่ให้คนแข่งขันเกมมารวมพลกันที่แห่งนี้

นายทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัดกล่าวว่า เนื่องจากบริษัทไม่ได้มีสินทรัพย์มาก เพราะตัวสนามต่าง ๆ ก็เป็นการเช่าที่ทำ ซึ่งที่ดินเป็นของนายเนวิน แต่หากเข้าตลาดหุ้นได้แล้วจะเอาเงินทุนมาหาสินทรัพย์บางส่วนใส่เข้าไป ซึ่งที่มองไว้ เช่น สนามซ้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ฟุตบอลยังถือว่าเป็นธุรกิจหลัก แต่รายได้ทางตรงธุรกิจนี้ก็ไม่ได้มาก ดังนั้นอีกขาจะเป็นรายได้จากฝั่ง nonfootball fan โดยการทำอี สปอร์ต การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อหารายได้เพิ่มจากส่วนนี้ อยางไรก็ตาม “ทุกวันนี้ธุรกิจอีสปอร์ตในไทยมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท เงินหมุนเวียนธุรกิจฟุตบอลไทยก็เทียบกันไม่ได้เลย ผมมองว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะยิ่งใหญ่กว่านี้ เราจึงสร้างอีสปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์ขึ้นมา เพื่อเป็นกันชน ทำให้บริษัทมั่นคง สำหรับต้นทุนหลัก ๆ ของบริษัทจะเป็นเรื่องค่าเหนื่อยของนักเตะ สัดส่วนราว 40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รองลงมาเป็นค่าเช่าสนาม 30% ที่เหลือก็เป็นต้นทุนขายเสื้อสินค้าที่ระลึก แต่ในส่วนของสินค้าที่ขาย มีมาร์จิ้นดีถึง 30-40% ซึ่งยอดขายก็ทำได้ดีมีขายทั่วประเทศ และผลประกอบการในไตรมาสแรกก็ออกมาค่อนข้างดีด้วย จากการขายเสื้อและสินค้าที่ระลึกทำลายสถิติสูงสุดที่ผ่านมา เรียกว่าโต 100% ทีเดียว”

คงต้องรอดู “หุ้นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” จะแปลงโฉมชุดใหญ่ไฟกะพริบกันต่อไป