อธิบดีสรรพากรรับนโยบายขุนคลังต้อน “ธุรกิจ-การค้า” ทั้งใน-ต่างประเทศเข้าระบบ เร่งดัน 3 กฎหมายภาษี เครื่องมือใหม่ยุคดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ “ภาษีอีเพย์เมนต์” เช็กธุรกรรมการเงินทุกธุรกิจ ผ่านกฤษฎีกาเตรียมเข้า สนช. ตามด้วย “ภาษีอีบิสซิเนส” ต้อนบริษัทต่างชาติเข้าระบบแวต และกฎหมายสกัดธุรกิจยักษ์ผ่องถ่ายกำไร ชูแผนพัฒนาบิ๊กดาต้าไล่ล่า “ธุรกิจหลบเลี่ยงภาษี” เผยปลายปีนี้เริ่มเดินเครื่อง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2561 กรมสรรพากรคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้ตามประมาณการที่ 1.86 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2562 ได้ตั้งเป้าหมายให้กรมสรรพากรเก็บรายได้ที่ 2 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ให้นโยบายกรมสรรพากรขยายฐานภาษีให้ได้มากขึ้น และสั่งการให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ออกมา
โดยปัจจุบันมีคน 2 กลุ่มที่ไม่อยู่ในฐานภาษี กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ตั้งใจหลบเลี่ยง แต่อาจจะไม่สะดวก กับอีกกลุ่ม เป็นพวกตั้งใจหลบภาษี หรือพวกโกงภาษี
“ปัจจุบันฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีคนยื่นแบบอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคนส่วนภาษีนิติบุคคลมีประมาณ 6 แสนรายเป้าหมายคือขยายเพิ่มขึ้น แต่จะขยายเท่าไหร่คงบอกลำบาก เพราะการขยายจะมีทั้งแนวกว้าง และแนวลึก โดยแนวกว้างก็คือดึงคนที่ยังไม่อยู่ในระบบเข้ามา และแนวลึกก็ตรวจสอบบริษัทที่อยู่ในระบบภาษีแล้วให้จ่ายให้ครบถ้วน”
เน้นขยายฐานภาษีนิติบุคคล
นายเอกนิติกล่าวว่า กรมสรรพากรจะเน้นที่มาตรการฐานภาษีนิติบุคคลเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันยังมีอยู่แค่ราว 6 แสนราย โดยขณะนี้ก็มีมาตรการจูงใจหลายเรื่อง อาทิ มาตรการส่งเสริมให้ประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล ที่ ครม.ได้ขยายเวลามาตรการยกเว้นภาษีการโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ออกไปถึงสิ้นปี 2561 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการทำบัญชีชุดเดียว เป็นต้น
นายเอกนิติกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการบัญชีชุดเดียวที่ ธปท.กำหนดเริ่มบังคับใช้กับสถาบันการเงิน ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 นั้น ไม่ใช่เป็นการบังคับใช้เฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น แต่จะใช้บังคับกับผู้ประกอบการทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นหากยังมีผู้ทำบัญชีไม่ถูกต้อง กรมสรรพากรก็จะตรวจสอบอย่างเต็มที่
“ในมุมฐานภาษีการเก็บภาษีรายย่อยไม่ได้ทำให้ภาพใหญ่เปลี่ยน แต่ทำให้ระบบดีขึ้น กลุ่มที่เป็นเป้าหมายของเรา คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า” นายเอกนิติกล่าว
ชูระบบดิจิทัลดึงคนจ่ายภาษี
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรณีผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ หากเข้าระบบภาษีที่ถูกต้อง จะทำให้ยอดขายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ โดยมองว่าการที่คนเหล่านี้ไม่อยากเสียภาษี เกิดจากความไม่สะดวก ไม่มีระบบบัญชีที่ดี ดังนั้นเรื่องหลัก ๆ ที่ผลักดันในปีนี้ก็คือ ทำเรื่องที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การเสียภาษีง่ายขึ้นเรื่องแรกที่จะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ได้แก่ 1.ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ปี 2561 นี้ โดยกรมจะมีการเชื่อมระบบกับวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ให้สรรพากรพื้นที่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ พร้อมกับอำนวยความสะดวกแก่วัดต่าง ๆ แล้ว
“คนโจมตีว่าเราจะไปไล่จับวัด ต้องชี้แจงว่าวัดไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่หน่วยภาษี แต่สิ่งที่เรากำลังทำ คือจะทำให้เป็นระบบ เพื่อให้คนที่ทำบุญบริจาควัด โรงพยาบาล ไม่ต้องขอใบอนุโมทนาบัตร หรือเก็บเอกสารมายื่น เพราะข้อมูลจะเข้าระบบสรรพากรทันที และทำให้ปัญหาที่เมื่อก่อนจะได้ยินกันว่า มีการไปซื้อใบอนุโมทนานำมาลดหย่อนภาษี ก็จะน้อยลงด้วย”
และ 2.ระบบการยื่นงบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาที่ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสะดวกรวดเร็ว และได้รับคืนภาษีเร็วขึ้นด้วย โดยในอนาคตสรรพากรจะเปิดกว้างให้ยื่นแบบผ่านช่องทางให้บริการของเอกชนได้ ขณะที่กรมสรรพากรทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลาง
“เราจะทำเป็นแพลตฟอร์มกลาง ถ้ามีพวกสตาร์ตอัพพัฒนาแอปพลิเคชั่นการยื่นแบบภาษีขึ้นมา โดยทำตามมาตรฐานที่เรากำหนดก็รับยื่นแบบแทนได้ กรมสรรพากรก็ประหยัดขึ้นด้วย”
วิเคราะห์ข้อมูลแยกคนโกงภาษี
นายเอกนิติกล่าวว่า เรื่องต่อมาที่สำคัญคือการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ภาษี (data analytics) แยก “คนดี” กับ “คนไม่ดี” ออกจากกัน ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบเชื่อมโยงการเสียภาษีของธุรกิจ โดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ได้อย่างครบถ้วนขึ้น ถือเป็นการขยายฐานในแนวลึก โดยวางแผนพัฒนาระบบไว้ 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก เป็นการเชื่อมข้อมูลภายในของสรรพากร เช่น ข้อมูลการยื่นแบบ ภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงข้อมูลจะเห็นว่าโดยรวมเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และจะทำให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้เสียภาษี ซึ่งจะวิเคราะห์ว่ามีความตั้งใจหลบเลี่ยงหรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 เชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 3 กรมจัดเก็บ คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ อย่างเช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น รวมถึงที่จะมีการหารือกับสมาคมธนาคารไทย ในเรื่องการเชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงิน
นายเอกนิติกล่าวอีกว่า หลังเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วในอนาคตก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบข้อมูลการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบธุรกิจได้มากขึ้น
“ทั้งหมดนี้เป็นการทำดาต้าอนาไลติกส์ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะมาตรวจสอบการหลบเลี่ยงภาษีโดยเฉพาะของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งการเชื่อมข้อมูลภายใน กรมสรรพากรตั้งใจไว้ว่าจะทำให้เสร็จภายในปี 2561 ซึ่งแค่ในขั้นนี้ก็คิดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นได้”
ดัน 3 กฎหมายภาษีใหม่
ขณะเดียวกัน กรมสรรพากรยังมีการผลักดันร่างกฎหมายอีก 3 ฉบับ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมากขึ้น นายเอกนิติกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ถือเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญ เพราะจะทำให้สรรพากรมีฐานข้อมูลธุรกรรมการเงินเพื่อที่จะช่วยวิเคราะห์ตรวจสอบการหลบเลี่ยงภาษี โดยขณะนี้กฎหมายได้ผ่านการตรวจร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก็คาดหวังว่าจะให้ผ่านออกมาก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ต้องรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรม ได้แก่ 1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี 2.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี
“จุดประสงค์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกับคนที่ค้าขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ค้าขายออนไลน์ แต่หมายถึงใครก็ตามที่หลบภาษี ตรงนี้ก็จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนที่จ่ายภาษีตรงไปตรงมา โดยจะต้องมีการเชื่อมโยงระบบกับสถาบันการเงิน เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบธุรกรรมได้โดยตรง” นายเอกนิติกล่าว
ภาษีอีบิสซิเนสเก็บ “ต่างชาติ”
สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า หลังจากมีการรับฟังประชาพิจารณ์หลายรอบก็ได้มีการปรับปรุง และโฟกัสไปที่ธุรกรรมของบริษัทต่างชาติที่มาให้บริการในประเทศไทย ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศ
“ตอนนี้รับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้ว หลักการคือธุรกรรมต่างชาติที่มาให้บริการในประเทศไทยต้องเสีย VAT ด้วย โดยบริษัทต่างชาติมีหน้าที่ต้องนำส่ง VAT ให้กรมสรรพากรผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเขาต้องลงทะเบียนเป็นผู้เสีย VAT ซึ่งร่างกฎหมายอันนี้จะไม่เกี่ยวกับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทย โดยขณะนี้เตรียมนำเสนอเข้า ครม.เห็นชอบ”
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ กับภาษีอีบิสซิเนส สำคัญทั้งคู่ ต้องทำควบคู่กันไป ในส่วนกฎหมายภาษีอีบิสซิเนสก็สำคัญ เพราะปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติเข้ามาให้บริการกับคนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายเงินสมาชิกดูหนัง หรือการโหลดเพลง โหลดสติ๊กเกอร์ ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริโภคคนไทยเป็นการชำระเงินออกไปต่างประเทศ แต่ต่อไปบริษัทเหล่านั้นเมื่อมีรายได้ก็ต้องนำส่งภาษี ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะทำตามกฎหมาย เพียงแต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายชัดเจน ในส่วนภาษีอีเพย์เมนต์ที่เป็นการรายงานธุรกรรมการเงินก็เป็นกฎหมายสำคัญที่จะครอบคลุมฐานภาษีได้กว้างกว่า
สกัดธุรกิจใหญ่ผ่องถ่ายกำไร
นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน) หรือ transfer pricing ที่ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของสนช. โดยนายเอกนิติกล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว เป้าหมายเพื่อป้องกันกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการจัดตั้งบริษัทลูกทั้งในและต่างประเทศ และใช้วิธีการถ่ายโอนเงิน จากบริษัทที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ หรือโอนจากบริษัทที่มีกำไรไปไว้บริษัทขาดทุน เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษี ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะมีกฎเกณฑ์ที่มีความชัดเจน จะมีการกำหนดวิธีการนับการคิดคำนวณตามมาตรฐานโลก จากเดิมที่ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนด ซึ่งกฎหมายนี้ก็จะทำให้การเก็บภาษีธุรกิจขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพมากขึ้น