เริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับกระแส “cashless society” หรือสังคมไร้เงินสด ที่วันนี้การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดทำได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้น แค่มีแอปพลิเคชั่นของธนาคารก็สามารถทำธุรกรรมได้ทั้งฝาก ถอน โอนรวมทั้งการชำระบิลก็ทำได้มากขึ้น ผ่านโมบายแบงกิ้ง หรือ “e-Wallet” กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไว้ใช้ชำระเงิน ซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ชำระค่าอาหารค่าบริการที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อการใช้ “เงินสด” ที่ลดน้อยลงในชีวิตประจำวัน และแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ “วรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นเทรนด์การใช้ “ธนบัตร” หรือเงินสดเติบโตลดลง เหลือเพียง 5% จากอดีตที่อัตราการเติบโตอยู่ที่ปีละ 7-8%
แม้ว่าการพิมพ์ธนบัตรในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง 2 พันล้านฉบับต่อปีหรือมีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 5.6 พันล้านฉบับ คิดเป็นเงินหมุนเวียนต่อปีราว 1.6 ล้านล้านบาท แต่ก็เชื่อว่าแนวโน้มการพิมพ์ธนบัตรมีโอกาสลดลง แต่อาจไม่ใช่ในระยะ 1-2 ปีนี้ ขึ้นอยู่กับว่าธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตเร็ว และแรงขนาดไหน
“วันนี้ทุกคนเปลี่ยนมาอยู่ในสังคมไร้เงินสด แต่สัญญาณยังไม่ชัดว่าความต้องการเงินสดจะน้อยลงขนาดไหน ซึ่งปกติการใช้เงินสดเติบโตตามจีดีพี หากไม่มีการใช้จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาการเติบโตคงมากกว่านี้ เทรนด์ที่คนหันไปทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นคาดว่าสักวันจะมากกว่าเงินสด” นายวรพรกล่าว
นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การลงทะเบียนพร้อมเพย์
ณ สิ้น พ.ค. 2561 แตะระดับ 44 ล้านบัญชีแล้ว เชื่อว่ายอดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันผู้บริโภคหันไปทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นทำให้การทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม และผ่านสาขาลดลงต่อเนื่อง
ด้าน นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่ อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยอดลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น SCB easy ถึง 7 ล้านบัญชีแล้ว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นปีที่มียอดเพียง 6 ล้านบัญชี ขณะที่การทำธุรกรรมแอ็กทีฟปัจจุบันเกิน 70% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยยอดการทำธุรกรรมผ่านแอปเติบโตขึ้นถึง 300% ต่อเดือน ในช่วง พ.ค.-มิ.ย.หลังมีการยกเลิกค่าธรรมเนียม และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งธนาคารจะพยายามย้ายทุกอย่างจากสาขามาไว้บนแอป
นอกจากนี้ การทำธุรกรรม ฝาก ถอน โอน ชำระบิลต่าง ๆ ปัจจุบันลูกค้าหันมาทำผ่าน SCB easy ถึง 90% ขณะที่การทำธุรกรรมที่สาขา หรือตู้เอทีเอ็ม ลดลงเหลือเพียง 10% แบ่งเป็นการทำธุรกรรมบนเอทีเอ็ม 6% สาขา 4% ส่วนหนึ่งมาจากที่ไม่มีค่าธรรมเนียม อีกด้านก็เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น
นางสาวพิมพ์ใจ ทองมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Payments Product Sales and Delivery ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่าน QR code ของเอสซีบีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่กว่า 1 ล้านรายการ ด้วยมูลค่าราว 3 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามียอดการใช้จ่ายผ่าน QR อยู่ที่ 6 ล้านรายการ คิดใช้จ่ายรวมที่ 1.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปีมูลค่าการใช้จ่ายผ่าน QR น่าจะเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 5 พันล้านบาทต่อเดือน โดยปัจจุบันธนาคารมียอดร้านค้าที่ติด QR อยู่ล่าสุด 1 ล้านราย คาดว่าสิ้นปีนี้จำนวนร้านค้าที่ติด QR จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านราย
ขณะที่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมุ่งพัฒนาบริการไปสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายอดแอ็กทีฟผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคาร ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่าระดับ 50% จากฐานลูกค้าโมบายที่มีอยู่ราว 6 ล้านบัญชี ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านสาขาวันนี้อยู่ที่ราว 50% ซึ่งก็คาดว่าจะลดลงเรื่อย ๆ