“ธอส.-กคช.” รับลูก “สมคิด” วางโมเดลผุดคอนโดฯ คนจนพรึ่บทั้งประเทศ ดึงเอกชนร่วมลงทุน

“ธอส.-กคช.” รับลูก “สมคิด” วางโมเดลผุดคอนโดฯ คนจนพรึ่บทั้งประเทศ ดึงเอกชนร่วมลงทุน แจงดีลเอกชนไว้ 50-60 จังหวัดแล้ว คาดทำพื้นที่ละ 100 ยูนิต เอ็มดี ธอส.เล็งทำยูนิตละไม่เกินล้านผ่อนนาน 40 ปี ค่างวดไม่เกิน 3 พันบาท

นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการ​การเคหะแห่งชาติ​ (กคช.) ​กล่าวว่า แนวทางการจัดทำบ้านผู้มีรายได้​น้อย​ตามนโยบายนายส​มคิด​ จาตุศรี​พิทักษ์​ รองนายกรัฐมนตรี​ ทาง​ กคช.มีโมเดลที่เตรียมไว้ คือ กคช.จะเป็นพี่เลี้ยงให้เอกชนผู้ลงทุนพัฒนาอสังหาฯ ทั่วประเทศ โดยในเร็วๆ นี้ จะเปิดตัว ซึ่งขณะนี้น่าจะมีร่วมโครงการประมาณ 50-60 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยแต่ละพื้นที่ก็อาจจะมีจำนวนยูนิตราวๆ 100 ยูนิต

“ถ้าเราลงทุนเองคงไม่ไหว เพราะงบฯ ได้ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเราจะเป็นพี่เลี้ยงให้เอกชน ทั้งด้านการก่อสร้าง การขาย และสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้เอกชนมั่นใจ” นายธัชพลกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายในงานบ้าน ธอส.เอ็กซ์โป @ กรุงเทพฯ ประจำปี 2561 ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 ก.ค. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าได้มอบนโยบายให้ ธอส. ที่มีภารกิจสำคัญในการช่วยให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างบ้านให้แก่คนไทย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้มีรายได้น้อยที่ผ่อนบ้านราคา 7-8 พันบาท/เดือนไม่ไหว 2.ผู้ที่เริ่มต้นสร้างครอบครัวต้องการมีบ้านหลังแรก และ 3.ผู้สูงอายุ ที่ไม่มีคนดูแล

“ผมขอให้ ธอส.ทำโครงการบ้าน ร่วมกับ กคช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งหลาย ทำโครงการบ้านระดับ mass ทั่วประเทศทุกจังหวัด ทำทีเดียวพรึ่บขึ้นมา โดยให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อยเป็นอันดับแรก ทำก่อนเลย ในกรุงเทพ อย่างดินแดง คลองเตย เข้าไปสร้างตึกให้เขาอยู่ได้ ผ่อนได้ในระยะยาว หรือต่างจังหวัดก็ให้ไปทำทุกจังหวัด ไม่ต้องเป็นบ้าน แต่ทำเป็นคอนโดมิเนียม เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่ที่จำกัด ไม่ต้องทำทีละเฟส” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยดังกล่าว ให้พิจารณาดำเนินการภายใต้การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ที่รัฐบาลมีการปรับปรุงกฎหมายให้รองรับ โดยให้ ธอส. กับ กคช.คุมคอนเซ็ปต์การก่อสร้างทั้งหมด แล้วให้เอกชนมาประมูลเพื่อก่อสร้าง ที่ทำในรูปแบบ PPP และ ธอส.สนับสนุนสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ ซึ่งทั้งหมดนี้ อยากเห็น ธอส. เสนอโครงการที่ศึกษาแล้วมาให้พิจารณาภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ในปี 2561 นี้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากเมื่อ 2 ปีก่อน โดยมีความเชื่อมั่นดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้การซื้อที่อยู่อาศัยมีเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งตนมั่นใจว่า ปีนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเติบโตได้มากขึ้นแน่นอน จากแรงสนับสนุนจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามามากขึ้น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการพัฒนาเมืองหลัก รวมถึงนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า หลังจากนี้ ธนาคารจะต้องสร้างโมเดลเพื่อตอบโจทย์นโยบายรองนายกฯ ที่ต้องการให้ดูแล 3 กลุ่ม อย่างกรณีผู้มีรายได้น้อยนั้น ปัจจุบัน ธอส. ก็มีโปรแกรมผ่อนยาว 40 ปี ที่ทำให้ค่างวดถูกลงได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งค่างวดที่น่าจะผ่อนชำระได้ก็น่าจะไม่เกิน 3 พันบาท/เดือน ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่ารัฐจะให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจเอกชนมาร่วมทำโครงการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ คาดว่าจะได้แนวทางเสนอคณะกรรมการธนาคารได้ภายในเดือน ส.ค.นี้

“ที่คิดไว้คือ ราคาที่อยู่อาศัยต่อยูนิต น่าจะไม่ถึง 1 ล้นาบาท โดยตอนนี้รูปแบบที่คิดว่า นอกจากเราจะให้สินเชื่อทั้งพรีไฟแนนซ์และโพสต์ไฟแนนซ์ ก็ยังต้องทำเรื่องการออกแบบโมเดลเพื่อผลักดันให้โครงการเกิดด้วย” นายฉัตรชัยกล่าว