แบงก์เขย่าแคมเปญขึ้นดอกเบี้ยบ้าน กสิกรชูเมนูดอกลอยตัว-BAY ส.ค.เพิ่ม 20 สต.

2 แบงก์ “กสิกรฯ-กรุงศรี” ปรับสูตร “ขึ้น” ดอกเบี้ยกู้บ้าน รับต้นทุนขึ้น แบงก์กสิกรฯงัดลูกเล่น “ดึงดอกเบี้ยลอยตัวผสมคงที่” ในช่วง 3 ปีแรก ค่าย BAY ลั่น ส.ค.จ่อขึ้นดอกเบี้ยโปรฯ อีก 5-20 สต.แบงก์กรุงเทพยันยังไม่ปรับขึ้น

นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารพันธมิตรและส่งเสริมการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ธนาคารได้มีการปรับอััตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านรับดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน โดยนำอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมาร่วมทำโปรโมชั่นในช่วง 3 ปีแรก เช่น อัตราดอกเบี้ยกู้แบบคงที่ในระยะ 1-2 ปีแรก หลังจากนั้น คิดอัตราดอกเบี้ยกู้แบบลอยตัวในปีที่ 3 ต่างจากก่อนหน้านี้จะให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดช่วง 3 ปีและจะมีแบบเงื่อนไขดอกเบี้ยให้ลูกค้าเลือกมากขึ้น เช่น หากลูกค้าเลือกดอกเบี้ยแบบลอยตัวในช่วง 3 ปีแรก ธนาคารก็จะให้ดอกเบี้ยบ้านที่ถูกกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านปกติอยู่ที่ 3.5% หากลูกค้าขอสินเชื่อเป็นลอยตัวตลอด 3 ปีแรก จะลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.2-3.3% เป็นต้น

สำหรับการปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยแบบลอยตัวมากขึ้น ก็เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารแบกรับต้นทุนในระดับที่ลดลงได้ในอนาคต

“ตอนนี้ด้านดอกเบี้ยเรายังไม่ลดลง เพราะดอกเบี้ยเราสูงกว่าตลาดอยู่แล้ว แต่เรามีการปรับดอกเบี้ยแบบคงที่ลดลง มุ่งไปสู่ดอกเบี้ยลอยตัวมากขึ้น เพื่อชักจูงลูกค้าหัันมาใช้ดอกเบี้ยลอยตัวแทนก็เพื่อการบริหารต้นทุนของเราในภาวะที่ดอกเบี้ยมีทิศทางสูงขึ้น เวลานี้เชื่อว่าทุกคนไม่ได้มุ่งดอกเบี้ยเป็นหลักแล้ว แต่ตอนนี้หันมาเน้นการบริการที่รวดเร็ว ลดเอกสารลง มุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น อย่างกสิกรฯเพิ่งให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อบ้านผ่านแอปพลิเคชั่นเคพลัสได้ด้วย วิธีนี้น่าจะทำให้ลูกค้าเข้าถึงธนาคารได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเดินไปสมัครที่ธนาคาร ส่วนการวิเคราะห์จากดาต้าน่าจะเห็นการปล่อยกู้ผ่านดาต้าได้ปลายปีนี้” นายอลงกตกล่าว

ด้านนายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการปรับ “ขึ้น” อัตราดอกเบี้ยกู้สำหรับสินเชื่อบ้านในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งน่าจะเริ่มในเดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากต้นทุนทางการเงินของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นหลังจากแนวโน้มดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารต้องปรับให้สอดรับกับต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยราว 0.05-0.20% หรือ 5-20 สต. จากดอกเบี้ยบ้านในแคมเปญปกติ

“ตอนนี้เราอั้นไว้อยู่ คาดว่าต้นเดือนหน้า (ส.ค.) ก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในส่วนที่ทำโปรโมชั่นสำหรับช่วง 3 ปีแรก แต่ดอกเบี้ยอื่น ๆ ก็ยังทรงตัวเหมือนเดิม และตัวดอกเบี้ยก็จะเห็นปรับเป็นแบบดอกเบี้ยลอยตัวมากขึ้นด้วย แต่เชื่อว่าการปรับดอกเบี้ยขึ้นไม่น่าจะกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก เพราะประเมินว่าเบื้องต้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสิ้นปีนี้ได้เพียง 1 ครั้ง หาก กนง.ปรับดอกเบี้ยเพิ่มแค่ 0.25% ก็เชื่อไม่กระทบมาก คิดว่าต้องปรับขึ้นรุนแรง 1-2% ถึงเห็นผลกระทบ แต่คงไม่ปรับแรง ๆ เร็ว ๆ นี้แน่นอน” นายณัฐพลกล่าว

สำหรับผลดำเนินงานในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท โตราว 10% จากปีก่อนหน้าที่อยู่ 5.7 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ครึ่งหนึ่งของเป้าหมายปีที่แล้ว ขณะที่สินเชื่อคงค้างเติบโตขึ้น 11% คาดไว้ที่ 240,000 ล้านบาท จากสิ้นปีླྀ อยู่ที่ 215,316 ล้านบาท

นายณัฐพลกล่าวถึงสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ว่า ปัจจุบันอยู่ที่ 2.4-2.6% ซึ่งทรงตัวมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเอ็นพีแอลก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคน่าจะมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น ด้านค้าขายก็ดีตาม ทำให้มีกำลังในการชำระหนี้ที่สูงขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา


นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสินเชื่อบ้านในเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าธนาคารอื่น ๆ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสินเชื่อบ้าน “เพิ่มขึ้น” กันแล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ตลาดโดยรวมมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้าน ตนเชื่อว่าน่าจะเป็นการปรับขึ้นไปในระดับที่ไม่กระทบต่อผู้ที่ต้องการจะซื้อบ้าน และไม่กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ในอนาคต