แผนหารายได้ “ระยะกลาง” ปิดจุดอ่อน 3 กรม เก็บภาษีต่ำเป้า

กระทรวงการคลังเพิ่งรายงานผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ล่าสุด ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 2560-พ.ค. 2561) โดยพบว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,571,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 60,008 ล้านบาท หรือ 4.0%

ซึ่ง “พรชัย ฐีระเวช” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า มาจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ ส่วนภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ที่สำคัญก็มีภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีรถยนต์ และภาษียาสูบ

“การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมายังคงสูงกว่าประมาณการ และเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ นอกจากนี้ การขยายตัวในระดับสูงของมูลค่าการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณต่อไป” นายพรชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกลงไปที่ไส้ในการจัดเก็บรายได้ จะพบว่าการเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) ในช่วง 8 เดือนดังกล่าว มีการจัดเก็บรายได้รวมกัน 1,576,196 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 17,507 ล้านบาท หรือ 1.1%

และยิ่งโฟกัสไปที่แต่ละกรม ก็พบว่าทั้ง 3 กรมภาษีล้วนเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการทั้งสิ้น ประกอบด้วย กรมสรรพากรเก็บรายได้ 1,131,629 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,811 ล้านบาท หรือ 0.9% กรมสรรพสามิตเก็บรายได้ 371,693 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,270 ล้านบาท หรือ 1.4% และกรมศุลกากรเก็บรายได้ 72,874 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,426 ล้านบาท หรือ 1.9%

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีงบประมาณหลังมานี้ ก็จะพบว่า 3 กรมภาษีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการมาทุกปี

ทั้งนี้ เมื่อมองไปถึงระยะข้างหน้า ล่าสุด กระทรวงการคลังได้จัดทำ “แผนการคลังระยะปานกลาง” (ปีงบประมาณ 2562-2564) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา

โดยแผนดังกล่าวแบ่งเป็น ในระยะสั้น รัฐบาลยังเน้นดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ด้วยการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง ทั้งในปีงบประมาณ 2561 ที่ขาดดุลรวมงบฯรายจ่ายเพิ่มเติมแล้วอยู่ที่ 550,358 ล้านบาท และ 2562 ขาดดุล 450,000 ล้านบาท ส่วนรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2561 จะอยู่ที่ 2,450,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 2,550,000 ล้านบาท

ขณะที่ระยะปานกลางของแผน (ปีงบประมาณ 2563-2564) จะเริ่มทำงบประมาณขาดดุลลดลง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำ “งบประมาณสมดุล” ในอนาคต เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้เกือบเต็มศักยภาพแล้ว อยู่ในช่วง 3.5%-4.5% ต่อปี (ค่าเฉลี่ยที่ 4% ต่อปี) โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 ได้มีการประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิที่ 2,748,000 ล้านบาท และ 2,776,000 ล้านบาทตามลำดับ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการวางเป้าหมายนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยึดตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และ “ปรับอัตราภาษี” ให้เหมาะสมเพื่อให้มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น พร้อมกับจำกัดการขยายตัวของรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ และเน้นเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น

พร้อมทั้งสนับสนุนและเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ที่จะช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐบาล เช่น การร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน (PPPs) การลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เป็นต้น

“ในระยะปานกลาง จะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี และปรับอัตราภาษีให้เหมาะสม รวมถึงมีการติดตามและเร่งรัดมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) การจัดทำบัญชีเล่มเดียว เป็นต้น”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามแผนในปีงบประมาณ 2563 จะมีการปรับโครงสร้างภาษีที่สำคัญ ได้แก่ 1.การปรับโครงสร้างอัตราภาษียาสูบตามมูลค่า จากที่ใช้ 2 อัตรา เหลือเพียง 1 อัตรา ซึ่งจุดนี้คาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 3,000 ล้านบาท 2.การปรับอัตราภาษีรถจักรยานยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่นเดียวกับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ส่วนนี้จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2563 ยังได้มีการประมาณการว่าจะมีการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz (4G) อีกจำนวน 119,500 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้รัฐด้วย

ส่วนปีงบประมาณ 2564 ก็จะมีการปรับอัตราภาษีรถยนต์ตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามที่กำหนดว่าต้องปรับทุก ๆ 5 ปี ซึ่งตรงนี้คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นอกจากการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวแล้ว ตามแผนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดเก็บรายได้ด้วย ได้แก่ “กรมสรรพากร” จะปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายฐานภาษี อาทิ กฎหมายตราสารหนี้และส่วนแบ่งกำไรกองทุน กฎหมายเกี่ยวกับการถ่ายโอนกำไร (Transfer Pricing) และกฎหมาย e-Business รวมถึงการเปิดใช้งานระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax incoice/e-Receipt) และระบบ e-Filing ภาคสมัครใจ ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และเชื่อมโยงฐานข้อมูลบัญชีสินค้ากับไปรษณีย์ในประเทศและต่างประเทศด้วย

ส่วน “กรมสรรพสามิต” ก็จะปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ภาษีรถจักรยานยนต์ตามการปล่อยก๊าซ CO และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์ ด้าน “กรมศุลกากร” ก็จะทำระบบติดตามทางศุลกากรเพื่อควบคุมสินค้าผ่านแดน พัฒนาระบบตรวจสอบพิกัดศุลกากรล่วงหน้า จะจัดทำฐานข้อมูลสถิติสำหรับราคาวัตถุดิบเพื่อตรวจสอบราคาสินค้าสำเร็จรูป และพัฒนาระบบตรวจสอบพิกัดล่วงหน้า

นอกจากนี้ ทั้ง 3 กรมภาษี จะต้องมีการจัดทำข้อมูลความเสี่ยงจากการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่รัฐวางไว้ ส่วนในทางปฏิบัติจะทำได้แค่ไหน ต้องติดตามต่อไป