ศก.ภายในยังอ่อนแอ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

จากรายงานเศรษฐกิจประจำเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วง 6 เดือนแรก เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหลักที่สนับสนุน คือ การเติบโตของการส่งออก และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 7 และการขยายตัวกระจายในหลากหลายสินค้าและในประเทศคู่ค้า ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ ที่ร้อยละ 5 (หลังจากพลาดเป้ามาหลายปี) ส่วนการท่องเที่ยวนั้นก็ฟื้นตัวขึ้นตามคาดการณ์ โดยนักท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวได้เกือบร้อยละ 5 ในครึ่งปีแรกเทียบกับหดตัวร้อยละ 1 ในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ภาครัฐมองเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนว่ามาจากกำลังซื้อของต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังอ่อนแอและกระจุกตัวอยู่มาก โดยจะเห็นได้จากการบริโภคที่ฟื้นตัวเพียงบางส่วน และปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ในส่วนการบริโภคนั้น ในรายละเอียดจะเห็นว่ามีการขยายตัวในส่วนการบริโภคสินค้าคงทน (โดยเฉพาะรถยนต์) และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ ซึ่งได้ประโยชน์จากการเติบโตของนักท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคในส่วนของสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทน ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันนั้นปรับลดลง หรือไม่ขยายตัว ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวนี้ ทำให้ผู้ผลิตและร้านค้าปลีกต้องพยายามกระตุ้นยอดขายต่อเนื่อง จะเห็นได้จากนโยบายลด แลก แจก แถม ของร้านค้า ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากการแข่งขันที่มากขึ้น และกำลังซื้อที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ สภาวการณ์เช่นนี้ถ้าเกิดขึ้นยาวนาน จะยิ่งทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง อาจมีความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดได้ หวังว่าสถานการณ์ของไทยคงจะไม่ไปถึงขั้นนั้น

ส่วนผู้ประกอบการ ยังมีความกังวลหลักคือ ยอดขายตก รายได้ตก มีปัญหาสภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และบางรายก็มีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้วย ซึ่งสถานะของ SMEs ที่แย่ลง สะท้อนจากตัวเลขหนี้เสีย SMEs ของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าหลายฝ่ายจะบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่องก็ตาม หากพิจารณาหนี้เสียทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ จะเห็นว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ของสินเชื่อรวม ในปลายปี 2015 เป็นร้อยละ 2.95 ในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยหนี้เสียของธุรกิจขนาดใหญ่ปรับลดลงจากร้อยละ 1.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.59 ในช่วงเวลาเดียวกัน (เพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 ปี 2016 ที่ร้อยละ 1.99) ขณะที่หนี้เสียของ SMEs ปรับเพิ่มต่อเนื่องจากร้อยละ 3.5 ในปลายปี 2015 เป็นร้อยละ 4.48 ในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งหนี้เสีย SMEs มีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้เสียรวม

การสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของสถาบันการเงินในไตรมาส 2 ซึ่งเผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้กังวลว่า กำลังซื้อในประเทศ และสถานะของ SMEs จะยังคงเผชิญสภาวการณ์ที่ยากลำบากต่อเนื่องในครึ่งปีหลังนี้ ทั้งนี้เพราะสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญด้านการเงิน ยังมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกังวลเรื่องคุณภาพของสินเชื่อที่อาจจะเสื่อมถอยลง โดยผลการสำรวจสรุปได้ ดังนี้

1.ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 แต่เพิ่มเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและบางธุรกิจขอสินเชื่อเพื่อใช้สำหรับขยายการลงทุน ส่วนความต้องการสินเชื่อของ SMEs ยังทรงตัว

2.สถาบันการเงินเข้มงวดและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 โดยเฉพาะกับกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง

3.ความต้องการสินเชื่อของครัวเรือน ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน และสถาบันการเงินผ่อนคลายความเข้มงวดลงสำหรับสินเชื่อประเภทเช่าซื้อ คือมีการปรับลดดอกเบี้ยและเกณฑ์หลักทรัพย์ค้ำประกัน (แข่งขันสูงขึ้น)

4.สำหรับไตรมาส 3 แม้ว่าสถาบันการเงินจะคาดว่าปริมาณความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น และอาจผ่อนคลายความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กจะยังมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่ามีความกังวลเรื่องคุณภาพสินเชื่อ


สำหรับประเทศไทยแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs นั้นมีจำนวนกว่าร้อยละ 95 และมีการจ้างงานกว่าร้อยละ 50 ของธุรกิจทั้งหมด หาก SMEs ยังไม่ฟื้นตัว ก็น่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในยังคงเปราะบาง และทำให้กำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอต่อไป