สงครามการค้า “สหรัฐ-จีน” กระทบ SMEs ไทย

คอลัมน์ Smart SMES

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

มหากาพย์สงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน เริ่มต้นมาจากสหรัฐต้องการเดินเกมกดดันทางการค้ากับทุกประเทศที่สหรัฐเสียดุลการค้า โดยจีนคือเป้าหมายอันดับหนึ่ง เนื่องจากสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 375,228 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขาดดุลทั้งหมด โดยสหรัฐเริ่มเกมด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 25% ในกลุ่มสินค้า 1,333 รายการ ทางด้านจีนก็ตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษี 25% จากสินค้า 128 รายการที่นำเข้าจากสหรัฐ แม้จีนมีท่าทีประนีประนอมในการเจรจา แต่สหรัฐก็เพิกเฉยต่อความพยายามของจีน และยังคงเพิ่มแรงกดดัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 สหรัฐเดินหน้าเก็บภาษีกับจีนในวงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐในครั้งนี้คงไม่จบได้โดยง่าย

ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นตลาดที่มีบทบาทในการส่งออกสินค้าของไทย โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ส่งไปจีนมีมูลค่า 9,734 ล้านดอลลาร์ เติบโตที่ร้อยละ 5.0 (YoY) และสหรัฐ มีมูลค่า 8,690 ล้านดอลลาร์ เติบโตที่ร้อยละ 9.3 (YoY) ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหรัฐ และจีน อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1.ผลบวกต่อสินค้าไทยที่มีโอกาสเข้าไปทำตลาดทดแทน

– สินค้าไทยที่จะเข้าไปแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนเครื่องยานยนต์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์บางประเภท ชิ้นส่วนทีวี/กล้อง ชิ้นส่วนเครื่องพิมพ์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน ยางล้อเครื่องบิน เกียร์ ตัวจุดระเบิดเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ เป็นต้น

– สินค้าไทยที่จะเข้าไปแทนสินค้าสหรัฐในตลาดจีน เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งไปขายในตลาดจีนเป็นคนละประเภทกับสินค้าสหรัฐ ดังนั้นสินค้าไทยที่ได้อานิสงส์จึงอยู่ในกลุ่มจำกัดเพียงผลไม้สดและเป็นผลไม้เมืองร้อน เช่น มะพร้าว ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง เป็นต้น

2.ผลบวกต่อสินค้าไทยที่ได้ลดภาษีนำเข้าจากจีน โดยสินค้าไทยที่ได้รับอานิสงส์จากการลดภาษีนำเข้าสินค้าของจีนเพื่อลดแรงกดดันทางการค้ากับนานาชาติ คือ กลุ่มสินค้าศักยภาพอย่างอาหารแปรรูป อาหารทะเล เสื้อผ้าและรองเท้า และเครื่องสำอาง เป็นต้น

3.ผลลบต่อสินค้าไทยที่ส่งไปสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตในจีน เนื่องจากสินค้าจีนส่งไปยังสหรัฐได้น้อยลง จึงส่งผลให้การส่งออกของสินค้าไทยที่สนับสนุนห่วงโซ่การผลิตของจีนลดลง โดยสินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนเพื่อใช้ผลิตสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของกล้องต่าง ๆ

สำหรับแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงอย่างไร ผมขอแนะนำให้ผู้ประกอบการปรับตัวดังนี้ครับ

1.การเตรียมความพร้อมด้านการผลิต สต๊อกวัตถุดิบ และระดับสินค้าคงคลังก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ได้โอกาสทางการค้าได้ถูกจังหวะเวลา โดยต้องมีการเพิ่มความยืดหยุ่นให้สามารถเพิ่มและลดระดับสินค้าคงคลังได้รวดเร็วมากขึ้น และยังต้องมีการเตรียมการจัดการด้านแรงงาน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในการลดกำลังการผลิต

2.ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นโอกาสที่จะเร่งเจาะตลาดจีน ในจังหวะที่สหรัฐ และจีนมีข้อพิพาทกัน ด้วยการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในจีนมากขึ้น

3.ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการหาตลาดใหม่อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากคำสั่งซื้อที่ลดลงและต้นทุนทางภาษีที่อาจสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งผมคิดว่าตลาดอินเดียก็เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังต้องติดตามข่าวสารข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงสหรัฐกับนานาประเทศ เพราะอาจสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบได้อย่างฉับพลัน โดยหากเกมการค้าทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างไปสู่สินค้ารายการอื่นเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจไทยอาจต้องเผชิญอุปสรรคในการทำตลาดทั้ง 2 ประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด