ไตรมาส 3 ตลาดหุ้นแกว่ง สร้างฐาน เน้น Domestic Plays

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย วิจิตร อารยะพิศิษฐ, สรพล วีระเมธีกุล บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/61 คาดว่าตลาดจะอยู่ในช่วงการสร้างฐานในกรอบดัชนี 1,550-1,760 จุด เทียบเคียงระดับ PE ratio (อัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรสุทธิ) ที่ 14-16 เท่า (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของ PE ratio ของ SET อยู่ที่ระดับ 15 เท่า) โดยมีปัจจัยบวกสลับลบ คาดส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนได้ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

โดยมุมมองลบที่ต้องติดตาม คือ ประเด็น trade war(สงครามการค้า) ระหว่าง สหรัฐ, จีน และยุโรป โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐได้ปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายประเภทขึ้น 25% คิดเป็นวงเงินกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ เช่นเดียวกับจีนซึ่งก็มีการตอบโต้สหรัฐโดยการขึ้นภาษีในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน และล่าสุดท่าทีของสหรัฐมีโอกาสที่จะปรับวงเงินเพิ่มอีกกว่า 2 แสนเหรียญสหรัฐ โดยรอฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมช่วงปลายเดือนสิงหาคม เป็นจุดบ่งชี้ว่าประเด็น trade war ยังคงยืดเยื้อต่อ และถือว่ายากต่อการประเมินผลกระทบที่ชัดเจนด้วย

อย่างไรก็ดี ทางด้านยุโรปยังถือว่าไม่ลุกลามมากนัก โดยล่าสุดสหรัฐต้องการให้ยุโรปปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์สหรัฐลงเพื่อแลกกับการที่สหรัฐจะไม่ปรับเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จากฝั่งยุโรป ซึ่งพบว่าท่าทีของทั้งสองฝ่ายมีทิศทางที่จะยอมถอยคนละก้าว ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาต่อเนื่องในช่วงถัดไป

สำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ คาดปีนี้ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้ง (ช่วงต้นปีปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง คาดการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งที่เหลือจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.และ ธ.ค. 2561) อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันเราคาดตลาดรับรู้ความเสี่ยงในประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปเรียบร้อยแล้ว (priced in) ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีคาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐจะไม่ใช่ประเด็นที่กดดันทิศทางการลงทุน

ส่วนความผันผวนของค่าเงิน ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาทิศทางค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 6%เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(QoQ) จากระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับค่าเงินสกุลเอเชียนำโดยค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าแรง 5.6% QoQ ส่งผลลบต่อกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศในกลุ่ม Asia emerging market ต่อเนื่อง โดยสำหรับไทย นักลงทุนต่างชาติขายในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดทิศทางในช่วงไตรมาส 3 เสถียรภาพของค่าเงินบาท และค่าเงินเอเชียจะดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้กระแสเงินทุนไหลออกชะลอตัวลงได้

ขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแนะติดตามงานประมูลภาครัฐที่คาดจะเร่งตัวขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท ผ่านการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น รถไฟทางคู่เฟสสอง 9 เส้นทาง กว่า 4 แสนล้านบาท, รถไฟไทย-จีน 1.8 แสนล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ราว 1 แสนล้านบาท ผสานโครงการอื่น ๆ ทั้งมอเตอร์เวย์ และทางด่วน คาดจะเป็นปัจจัยหนุนให้การใช้จ่ายภาครัฐปีนี้ขยายตัวกว่าในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา ถือเป็นแรงหนุนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชน คาดยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสอดรับกับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางด้านการบริโภคก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น จากรายได้ภาคเกษตรกรในช่วง 2Q61 เริ่มฟื้นตัว ผสานกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน ที่ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 5 ปี เป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มการบริโภคของไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านมุมมองบวกที่มีต่อตลาด Valuation เข้าสู่จุดที่เริ่มน่าดึงดูด : ปัจจุบัน SET เทรดที่ระดับ forward PE 14.6 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 15 เท่า (PE 16 เท่า = ดัชนี 1,760 จุด, PE 15 เท่า = ดัชนี 1,650 จุด, PE 14 เท่า = ดัชนี 1,550 จุด) ซึ่งถือว่าเป็นระดับการลงทุนที่ไม่แพงเกินไปนัก ดังนั้น SET ณ ปัจจุบันอาจใช้เป็นจังหวะในการ “เล่นเก็งกำไร” หรือค่อย ๆ ทยอยสะสมในหุ้นพื้นฐานดี ที่ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาแรง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน บล.กิมเอ็ง คาดว่าไตรมาส 3/61 ดัชนีจะแกว่งตัวผันผวนในกรอบ 1,550-1,760 จุด โดยประเมินปัจจัยภายนอกยังเป็นตัวกดดันหลัก ดังนั้นจึงแนะลงทุนหุ้นที่อิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ (domestic plays) นำโดยกลุ่มค้าปลีก จากกำลังซื้อที่ค่อย ๆ เร่งตัวขึ้น (BJC, CPALL), กลุ่มธนาคารพาณิชย์รับอานิสงส์แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และ valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ (BBL), กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากแรงเก็งการประมูลโครงสร้างพื้นฐานที่จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2H61 และกลุ่มหุ้นปันผลสูง (EGCO, KKP)