น้ำมันดิบทรุดตัวหนัก หลังลิเบียกลับมาดำเนินการท่าเรือส่งออกตามปกติ

– ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่าร้อยละ 4 โดยน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หลังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาเปิดดำเนินการท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย ประกอบกับตลาดเป็นกังวลต่อภาพรวมความต้องการใช้น้ำมัน หลังจีนรายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงกว่าไตรมาสก่อน

– ท่าเรือ Ras Lanuf Es Sider Zeuitina และ Hariga ในลิเบียได้ทยอยกลับมาดำเนินการตามปกติอีกครั้ง หลังมีการประกาศเหตุฉุกเฉินในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 61 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบหายไปกว่า 850,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ การปิดซ่อมบำรุงของแหล่ง El Feel ได้เสร็จสิ้นลง ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบกลับมาราว 50,000 – 72,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของแหล่ง Sharara อาจปรับลดลงราว 160,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุลักพาตัวคนงานโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่

– จีนประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ร้อยละ 6.7 ตรงตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวนับว่าเติบโตช้าลงจากไตรมาส 1 ที่ร้อยละ 6.8 โดยเฉพาะการเติบโตของตัวเลขภาคการผลิตในเดือน มิ.ย. ที่ออกมาต่ำสุดในรอบ 2 ปี เป็นสัญญาณที่สร้างความกังวลต่อตลาด หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งตลาดคาดจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการส่งออกของประเทศ

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังมีแรงซื้อใหม่เข้ามาในตลาดจากประเทศอินโดนีเซีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าอุปทานจากประเทศจีนจะยังคงอยู่ในระดับสูง หลังโรงกลั่นในประเทศกลับมาเปิดดำเนินการผลิตหน่วยกลั่นน้ำมันดิบขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันดีเซลออกสู่ตลาดมากขึ้น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

แรงกดดันในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งคาดจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ล่าสุดทางจีนออกมาตอบโต้ว่าจะเตรียมออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ในเร็วนี้

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga ได้กลับมาทำการปกติอีกครั้ง หลังได้มีการประกาศเหตุสุดวิสัยในวันที่ 14 มิ.ย. 61 อย่างไรก็ตาม ท่าเรือส่งออกน้ำมัน Ras Lanuf และ Es Sider ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงต้องมีปิดซ่อมบำรุงไปอีกระยะหนึ่ง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาที่มีทิศทางปรับลดลง