สบน. จัดสัมมนาการบริหารหนี้สาธารณะตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 24 ก.ค. นี้

สบน. จัดสัมมนาการบริหารหนี้สาธารณะตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 24 ก.ค. นี้ หวังให้ความรู้หน่วยงานภาครัฐเข้าใจแนวปฏิบัติ

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ในฐานะรองโฆษก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ทางสบน. มีการกำหนดจัดโครงการสัมมนาเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้กฏหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฏหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ และร่างกฏหมายลำดับรองภายใต้กฏหมายการบริหารหนี้สาธารณะได้ถูกต้อง

สำหรับโครงการสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการซักซ้อมความเข้าใจ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 โดยกฎหมายดังกล่าว มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักการและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะ อีกทั้ง สบน. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารจัดการความเสี่ยง การติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ และการรายงานข้อมูลหนี้ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานการบริหารหนี้สาธารณะของหน่วยงานภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนดนางสาววราภรณ์ ปัญญศิริ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆได้รายงานข้อมูลให้กับสบน.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมีพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทำให้ขอบเขตในการรายงานขยายออกไปถึงความเสี่ยงทางการคลัง โดยศูนย์เทคโนโลยีฯ เตรียมทำระบบการรายงานข้อมูลบนแพลตฟอร์มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การรายงานต่างๆมีความรวดเร็วมากขึ้น สามารถเป็นฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันได้ตามนโยบายของภาครัฐ โดยกำหนดให้รายงานแบบฟอร์มทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะเวลา 60 วัน หลังสิ้นปีงบประมาณและกำหนดให้รายงานหนี้สาธารณะแต่ละหน่วยงานทุกๆเดือน


นอกจากนี้จะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะร่วมบรรยาย และมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกลาง อาทิ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานผู้ปฏิบัติ อาทิ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน กองทุนที่เป็นนิติบุคคล มหาวิทยาลัยในกำกับดูแลของรัฐ และหน่วยงานอื่นของรัฐกว่า 200 แห่ง รวมจำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วม นับเป็นการบูรณาการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ กรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะ ตลอดจนการรายงานหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ ความเสี่ยงทางการคลัง และแนวทางในการปฏิบัติงานได้ถูกต้องตรงกัน