รัฐลดสิทธิประโยชน์ “IHQ” ยึดเกณฑ์ “โออีซีดี” ห้ามขโมยฐานภาษี

สรรพากรดึงบริษัทข้ามชาติจดทะเบียนตั้ง “IHQ-ITC” ในไทยได้แล้ว 182 บริษัท “เอกนิติ” ยันไทยได้ประโยชน์จากการลงทุน R&D ของบริษัทข้ามชาติ แจงปรับลดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีลง มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 เหตุต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ OECD ที่ห้ามขโมยฐานภาษีคนอื่น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter : IHQ) และมาตรการภาษีสำหรับบรรษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers : ITC) มากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มมีมาตรการส่งเสริมตั้งแต่ปี 2558 โดยมีบริษัทข้ามชาติมาจดทะเบียนจัดตั้งสำนักงานในไทยแล้วรวม 182 บริษัท แบ่งเป็น IHQ จำนวน 155 บริษัท และ ITC จำนวน 27 บริษัท

“มาตรการ IHQ กับ ITC นี้ เป็นตัวที่เราใช้โปรโมตการจ้างงาน ดึงบริษัทต่างชาติให้เข้ามาตั้งสำนักงานในเมืองไทย แต่ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ด้วย” นายเอกนิติกล่าว

โดยในกรณีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมสรรพากรได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบปรับลดสิทธิประโยชน์มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) ในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือลงนั้น ก็ถือเป็นการปฏิบัติตามเกณฑ์ OECD หรือปฏิบัติตามกติกาของโลกนั่นเอง

“เนื่องจาก OECD เขามีการออกเกณฑ์มาว่า การออกมาตรการต้องไม่เป็นการไปขโมยฐานภาษีคนอื่น ซึ่งแปลว่าการที่ไทยจะมีมาตรการสนับสนุนให้ต่างชาติมาจดทะเบียนตั้ง IHQ ในประเทศไทย แล้วพวกค่าสิทธิ ค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ที่มาตรการเดิมไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นของใคร แต่บริษัทนั้น ๆ อาจจะไปคิดค่าลิขสิทธิ์ที่ประเทศอื่น แล้วมาจดทะเบียน IHQ ในเมืองไทย ก็เหมือนเราไปแย่งฐานภาษีเขามา ดังนั้นหากจะให้สิทธิภาษีในส่วนนี้ ก็ให้ได้เฉพาะลิขสิทธิ์ที่เกิดในเมืองไทยเท่านั้น” นายเอกนิติกล่าว

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า แม้จะปรับลดสิทธิประโยชน์ลงบ้าง แต่ก็ยังสามารถดึงต่างชาติให้เข้ามาได้ และยังก่อให้เกิดเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้น เพราะบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งในเมืองไทย จะต้องมีเม็ดเงินลงทุนด้าน R&D นี้ด้วย

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมสรรพากรมั่นใจว่า จะจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่ 1.86 ล้านล้านบาท และในปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีนั้น จะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ โดยให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกา ยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีเดิมเกี่ยวกับค่าสิทธิที่ IHQ ได้รับจากวิสาหกิจในเครือและกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีใหม่ โดยให้สิทธิประโยชน์ภาษีเฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาของ IHQ ที่กระทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น

โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ปรับปรุงใหม่ ได้แก่ 1) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ IHQ เหลือ 10% ของกำไรสุทธิ จากเดิมเสีย 20% สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในประเทศไทย เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาของ IHQ ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย หรือจ้างผู้อื่นกระทำขึ้นในประเทศไทย และ 2) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ IHQ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ เฉพาะที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาของ IHQ ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย หรือจ้างผู้อื่นกระทำขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป