ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับถ้อยแถลงประธานเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 16-20 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (16/7) ที่ระดับ 33.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/7) ที่ 33.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงในวันศุกร์ (13/7) ภายหลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลดลง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์หลังจากได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอีกครั้ง หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการแถลงการณ์นโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ รอบครึ่งปีหลังต่อคณะกรรมาธิการบริหารการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยเขาได้กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ ในปัจจุบันว่ากำลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นการเหมาะสมที่จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี โดยได้รับปัจจัยหนุนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นทางการคลัง, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราว่างงานที่อยู่ในระดับที่ต่ำ และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับเป้าหมายที่ระดับ 2% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี อย่างไรก็ตามในช่วงคืนวันพฤหัสบดี (19/7) ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินขจองธนาคารกลางสหรัฐ โดยเขาระบุว่า เขามีความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐ หากสกุลเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่ามากจนเกินไป ด้วยเหตุนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค จากปัจจัยการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ไปทดสอบระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าวันศุกร์ (20/7) ทั้งนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาพูดถึงสภาวะเศรษฐกิจและนโยบายการเงินในปัจจุบันว่า ประเทศไทยยังไม่ควรรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพึ่งเริ่มต้นกลับเข้าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย โดยเขาได้กล่าวเสริมว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ จะเติบโตได้ในระดับ 4.5% พร้อมมองว่าหากเกิดสงครามการค้าขึ้น จะกระทบต่อจีดีพีของไทยไม่มาก และเศรษฐกิจไทยยังแข็งแรงเพียงพอรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนการไหลออกของเงินทุนและการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อไทย เพราะจะทำให้รายได้ของการส่งออกในรูปของดอลลาร์มีเพิ่มขึ้นเมื่อแปลงกลับเป็นเงินบาท ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงเป็นที่น่าพอใจ โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการส่งออกของไทยขยายตัวได้ถึง 10.95% ส่วนการนำเข้า เพิ่มขึ้น 16.61% ทำให้มียอดเกินดุลการค้า 3.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ความตึงเครียดทางการค้าโลกยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.22-33.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (16/7) ที่ระดับ 1.1683/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/7) ที่ระดับ 1.1650/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ตามตลอดสัปดาห์ ค่าเงินยูโรยังมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาน่าผิดหวัง โดยในวันพุธ (18/7) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายน พบว่าทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.0% เท่ากับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และสำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งทางธนาคารกลางยุโรปใช้เป็นตัวประเมินอัตราเงินเฟ้อ ออกมาอยู่ที่ระดับ 0.9% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 1% ด้วยเหตุนี้ค่าเงินยูโรจึงอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมาทดสอบระดับอ่อนค่าสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1.1575 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงวันพฤหัสบดี (19/7) นอกจากนี้ค่าเงินปอนด์ ได้อ่อนค่าลงเช่นกันหลังจากที่ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 1.9% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.2% ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงมีความวิตกว่า อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะเป็นสาเหตุทำให้ทางธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะยังไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคมได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ ค่าเงินปอนด์จึงได้อ่อนค่าลงอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1575-1.1744 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1638/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ส่วนค่าเงินปอนด์เคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2955-1.3290 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ และปิดตลาดที่ระดับ 1.3032/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (16/7) ที่ระดับ 112.48/49
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (13/7) ที่ระดับ 112.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวตามสกุลเงินหลักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าสุดในวันพฤหัสบดี (19/7) ที่ระดับ 113.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในวันอังคาร (17/7) ทางสหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่นได้มีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยได้ครอบคลุมถึงการยกเลิกการจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์หลายรายการ ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายทางการค้าที่ตรงข้ามกับนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นการเน้นการปกป้องการค้าตามหลักการ “อเมริกามาก่อน โดยมูลค่าการค้าการสร้างเขตการค้าเสรีระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปดังกล่าวนั้น คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.05-113.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.33/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ