Q2 กลุ่มแบงก์กำไรโต 16% หนี้เสียลด-เลิกค่าฟีไม่สะเทือน

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 กันออกมาแล้ว โดยจากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11-20 ก.ค. พบว่า ธนาคารพาณิชย์จำนวน 10 แห่ง โกยกำไรสุทธิรวมกันได้ถึง 53,839 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 16% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่ทำกำไรได้ 46,189 ล้านบาท ซึ่งแม้จะมีการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม “โอน-จ่ายบิล-เติมเงิน” กันไปช่วงก่อนเริ่มไตรมาส 2 เล็กน้อยก็ตาม สะท้อนว่าธุรกิจแบงก์ยังสามารถทำกำไรได้มากขึ้น ในท่ามกลางการแข่งขันที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านการเงินเข้ามา “ดิสรัปต์” ก็ตาม

ทั้งนี้ ในจำนวน 10 แบงก์พบว่า แบงก์ที่มีกำไรเติบโตโดดเด่นที่สุดในไตรมาส 2 ก็คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งถือได้ว่าสร้างความ “เซอร์ไพรส์” อย่างมาก โดยมีกำไรสุทธิที่ 7,712 ล้านบาท เติบโตถึง 139% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนแบงก์ที่มีอัตราเติบโตสูงสุดรองลงมา คือ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) กำไรสุทธิเติบโตกว่า 40% หรืออยู่ที่ 719 ล้านบาท ฟากแบงก์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ก็เติบโตได้ต่อเนื่อง จากการทำกำไรสุทธิได้ 10,917 ล้านบาท เติบโต 21.49%

ซึ่งภาพของกำไรสุทธิที่ยังเติบโตได้ดีดังกล่าว สอดคล้องกับภาระการตั้งสำรองหนี้เสีย ที่ลดลงในไตรมาส 2 โดยภาพรวมการตั้งสำรองของทั้ง 10 แบงก์ อยู่ที่ 38,359 ล้านบาท ลดลงกว่า 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการตั้งสำรองสูงถึง 46,126 ล้านบาท ทั้งนี้ แบงก์ที่มีการตั้งสำรองลดลงมากที่สุดก็คือ KTB ลดลงถึง 51% หลังจากปีก่อนต้องสำรองกรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ไปจำนวนมาก ถัดมาก็คือ LHFG ที่ตั้งสำรองลดลงเกือบ 43% และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ตั้งสำรองลดลงเกือบ 25%

“ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอสบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรในไตรมาส 2 ของระบบแบงก์ที่ออกมา ถือว่าเซอร์ไพรส์ เพราะดีเกินคาดจากที่ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยสะท้อนว่าค่าธรรมเนียมบนดิจิทัลที่ยกเลิกไป ไม่ได้กระทบต่อแบงก์มากนัก อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า เนื่องจากไตรมาส 2 ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นที่มีการลดค่าฟีเท่านั้น

“ผลการดำเนินงานโดยรวม แบงก์พาณิชย์ทำได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะสินเชื่อที่เห็นการเติบโต ทำให้รายได้ดอกเบี้ยต่าง ๆ ของแบงก์กลับมาขยายตัว ในขณะที่ภาระสำรองลดลง อัตราการเกิดหนี้เสียแม้จะยังเห็นบ้าง แต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงแล้วในอนาคตข้างหน้านี้” นายธนเดชกล่าว

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3 “ธนเดช” กล่าวว่า คาดว่ากำไรสุทธิของแบงก์น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2 เพราะการทำกำไรยังมีต่อเนื่อง จากสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี ส่วนภาระการตั้งสำรองก็ผ่อนคลายลง จากการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ทำให้ความกังวลของแบงก์ส่วนนี้น่าจะน้อยลง

ขณะที่ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการจัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ไตรมาส 2 ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 139% เนื่องจากภาระการตั้งสำรองของธนาคารลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ต้องตั้งสำรองหนี้เสียในธุรกิจรายใหญ่

ส่วนแนวโน้มการทำธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเห็นผลการดำเนินงานของธนาคารมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงน่าจะทำให้มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2

ฟาก “พิพิธ เอนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 13.18% ในไตรมาส 2 โดยส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง อย่างไรก็ดี รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง 134 ล้านบาท หรือ 0.43% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง และการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล

ทั้งนี้ ในบรรดา 4 แบงก์ใหญ่พบว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เป็นเพียงแบงก์เดียวที่มีกำไรสุทธิลดลง ซึ่ง “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB กล่าวว่า สาเหตุที่กำไรสุทธิของธนาคารลดลง ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ 10,494 ล้านบาท ลดลง 6.2% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และการลดลงของรายได้สุทธิจากการประกันภัย

นอกจากนี้ SCB ยังมีการลงทุนในโครงการ SCB Transformation รวมถึงค่าใช้จ่ายการตลาดในการสนับสนุนการขยายฐานลูกค้าใหม่ ค่าใช้จ่ายแคมเปญทางการตลาด การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงยังมีค่าเช่าซอฟต์แวร์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้นด้วย

“การลงทุนดังกล่าวถือเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งอนาคตจะเริ่มเห็นผลของการลงทุน การ transform ส่งผลดีต่อธนาคารในที่สุด” นายอาทิตย์กล่าว

ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ออกมาสะท้อนว่า ในระยะสั้นธุรกิจแบงก์ยังสามารถปรับตัวรับกับปัจจัยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนระยะยาวคงต้องติดตามดูกันต่อไป