เงินบาททรงตัว นักลงทุนจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/8) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในคืนที่ผ่านมา (8/8) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่เปิดรับสมัครโดยสถานประกอบการในสหรัฐพุ่งขึ้น 8% สู่ระดับ 6.2 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000 จากระดับ 5.6 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม โดยตำแหน่งงานที่เปิดรับมากขึ้น ได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานในภาคก่อสร้าง ภาคการผลิต และภาคการเงิน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.3% จาก 4.4% ในเดือนมิถุนายน และตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงาน หรือค่าแรงต่อชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม โดยรวมแล้ว ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่นักลงทุนยังคงต้องการข้อมูลเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อที่จะหาสัญญาณบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตลาดกำลังจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในวันศุกร์นี้ (11/8) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดภายในช่วงครึ่งหลังของปี โดยล่าสุด นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ได้กล่าวว่า เฟดสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากอัตราเงินเฟ้อไม่มีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นมาก ถึงแม้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงมีการปรับตัว ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.25-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (9/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1750/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/8) ที่ระดับ 1.1808/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากรัฐบาลฝรั่งเศสรายงาน ยอดขาดดุลการค้าของฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.7 พันล้านยูโร เนื่องจากการส่งออกลดลง โดยเฉพาะการส่งออกเรือและเครื่องบิน และยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.1 พันล้านยูโรในเดือนมิถุนายน จากระดับ 1.9 พันล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.23 หมื่นล้านยูโรในเดือนมิถุนายน จากระดับ 6.18 หมื่นล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1720-1.1763 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1735/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (9/8) เปิดตลาดที่ระดับ 109.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับจากราคาปิดตลาดในวันอังคาร (8/8) ที่ระดับ 110.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้านี้ เนื่องจากนักลงทุนหันมาซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากเกาหลีเหนือขู่จะยิงขีปนาวุธโจมตีเกาะกวม ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพแห่งหนึ่งของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิก ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นราว 0.15% มาอยู่ที่ระดับ 110-140 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ยังคงได้รับความกดดันหลังจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของชาวญี่ปุ่นที่ประกอบอาชีพที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ปรับตัวลงในเดือนกรกฎาคม ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่น Diffusion Index ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในกลุ่มอาชีพที่อ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่น พนักงานขับรถแท็กซี่ และพนักงานร้านอาหาร ปรับตัวลดลง 0.3 จุด มาอยู่ที่ระดับ 49.7 ซึ่งดัชนีที่ต่ำกว่า 50 หมายความว่า ผู้ที่มีมุมมองเป็นลบนั้น มีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีมุมมองบวก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้คงการประเมินเศรษฐกิจเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น “ยังคงปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.66-110.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 109.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเบื้องต้นไตรมาส 2/2560, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิถุนายน, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.2/+0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.4/-1.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ