ธสน. เตือนผู้ประกอบเร่งปรับตัว พร้อมป้องกันความเสี่ยงเกิดขึ้น แนะบุกตลาดใหม่ หวังพัฒนานวัตกรรมส่งออก

ธสน.เตือนผู้ประกอบการไทยรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมสนับสนุนตลาดเกิดใหม่ หวังสร้างรายได้และพัฒนานวัตกรรมส่งออก คาดส่งออกไทยครึ่งปีหลังโต 9% ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการต่อเนื่อง

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยว่า ธสน.เตือนผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวรับบริบทที่เปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป เช่น กลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่เป็นกลุ่มสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยสัดส่วนจีดีพี ของตลาดใหม่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2540 เป็น 40% ในปัจจุบัน ขณะที่สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันลดลงจาก 63% ในช่วงปี 2533-2537 เหลือเพียง 38% ในปัจจุบัน ขณะที่การค้าระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา และการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2533-2537 เป็น 62% ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยจึงควรหันมาบุกตลาดใหม่ซึ่งมีเสน่ห์ในหลายมิติและตลาดยังไม่อิ่มตัว คู่แข่งไม่มาก มีจำนวนประชากรมากและส่วนใหญ่มีอายุน้อย ขณะที่ผู้บริโภคชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ไทยที่ขาดการลงทุนขนาดใหญ่เป็นเวลานานในช่วงโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ส่งผลให้การส่งออกไม่มีการขยับรวมถึงการลงทุนก็จะไม่เดิน แต่ปัจจุบันการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการส่งเสริมลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่งผลให้มีกลุ่มนักลงทุนสนใจเข้ามาร่วมลงทุนหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี สิงคโปร์ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนไหลกลับเข้าไทยมากขึ้น

“ธสน. ได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ปรับตัวทันกระแสโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมผู้สูงอายุ การเกิดขึ้นของนวัตกรรมและแพลตฟอร์มการค้ายุคใหม่ กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษ์สุขภาพ โดยผู้ประกอบการไทยต้องเร่งยกระดับห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตให้สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ให้มีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าไทยให้มีนวัตกรรมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่แข่งขันในตลาดบนได้ ในระยะยาว โดยเฉพาะในตลาดใหม่ที่ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้ประกอบการไทย” นายพิศิษฐ์กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ของธสน.มีกำไรสุทธิ 754 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2561 มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง จำนวน 96,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 11,087 ล้านบาท หรือ 12.98% โดยแบ่งออกเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 31,538 ล้านบาท และสินเชื่อการลงทุน 64,939 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 85,999 ล้านบาท นอกจากนี้ธสน.ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้แข่งขันได้มากขึ้นทั้งทางการค้าและและการลงทุนระหว่างประเทศ ที่มีปริมาณธุรกิจของเอสเอ็มอี เท่ากับ 49,241 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่เอสเอ็มอี เท่ากับ 32,968 ล้านบาท ทางธสน.คาดเป้าหมายยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อรวมในปี 2561 อยู่ที่ 100,000 ล้านบาท

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 3.39% ลดลง 0.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 3,274 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 8,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 759 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2560 โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3,912 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 222.61% ทำให้ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคงและมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายกลุ่มเอสเอ็มอีในปี 61 อยู่ที่ 2,849 ราย ปัจจุบันอยู่ที่ 2,742 ราย คิดเป็น 9.81% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2561

ในไตรมาส 2 ปี 2561 ธสน. มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนเท่ากับ 44,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,777 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 8,012 ล้านบาท เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ 18.15% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันธสน.มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 68,497 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 จำนวน 38,308 ล้านบาท อีกทั้ง ธสน. ยังมุ่งเน้นการขยายฐานการค้าและการลงทุนในตลาดใหม่ CLMV ซึ่งมียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ เท่ากับ 29,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 1,182 ล้านบาท โดยในปี 2560 ธสน.ได้เปิดสำนักงานผู้แทนในเมืองย่างกุ้ง เมียนมา และเปิดสำนักงานผู้แทนในเวียงจันทน์ในปีนี้ และกัมพูชาในปี 2562

สำหรับการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2561 มีแนวโน้มโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 127,387-132,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกที่มีมูลค่า 125,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกทั้งปี 2561 อยู่ที่ราว 253,199-257,932 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวราว 7-9% โดยมีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวดี โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่ยังขยายตัวร้อนแรงต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดใหม่ในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูง อาทิ CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ขยายตัว 8.5%) อินเดีย (ขยายตัว 24.2%) ทวีปแอฟริกา (ขยายตัว 11.2%) และจีน (ขยายตัว 4.1%) 2. ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับสูง ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 17.5% และสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะขยายตัว 6.6% ในปี 2561 3. ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกยังขยายฐานการผลิตในประเทศไทย เห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศสุทธิในไทย (FDI) ในช่วงไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นถึง 85% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ส่งผลดีต่อการส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 2561 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของผู้ประกอบการต่างชาติ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล คาดว่า ในปี 2561 มูลค่าส่งออกรถยนต์ของไทยจะขยายตัว 8.4% ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 4.8% และเครื่องจักรกลขยายตัว 4.5%

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกครึ่งหลังปี 2561 ได้แก่ 1. มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ปัจจุบันสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 25% คิดเป็นมูลค่าราว 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแผนจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีกในระยะถัดไป ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกไทยไม่มากก็น้อย 2. ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น จากนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจที่ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเคลื่อนไหวรวดเร็วและรุนแรงขึ้น 3. ความขัดแย้งและภัยธรรมชาติอาจปะทุขึ้นเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งภายในประเทศสเปน และภัยธรรมชาติ ทั้งพายุ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น


นอกจากนี้ ธสน.มีนโยบายจะส่งเสริมการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หรือการลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่รัฐบาลมีนโยบายและให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดย ธสน.มีสินเชื่อครบวงจรเพื่อส่งเสริมการลงทุนในโซนพิเศษ การลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ การพัฒนาพลังงานที่สะอาด พาณิชยนาวี และสินเชื่อโครงการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางการส่งออกเพิ่มมากขึ้น และไม่ต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศพัฒนา