“อนุชิต” ปักธงแบงก์เริ่มใช้ระบบ “ดิจิทัลไอดี” เปิดบัญชี ก.ย.นี้ ถัดจากนั้นจะขยายสู่การปล่อยกู้หลัง “เครดิตบูโร” เข้าแจมระบบ ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์-บริษัทประกันต่อคิวเข้าร่วมตามความพร้อม ด้านคลังเร่งชงกฎหมายดิจิทัลไอดีผ่านก่อนเลือกตั้ง
นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (ดิจิทัลไอดี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะเริ่มใช้ระบบดิจิทัลไอดีกับการเปิดบัญชีธนาคารได้ เนื่องจากขณะนี้มีการจัดทำแพลตฟอร์มเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างทดสอบระบบ ซึ่งธุรกิจที่เข้ามาในระบบแล้วก็คือ ธนาคาร ขณะที่ทางบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร หรือ NCB) ก็จะเข้ามาร่วมในระบบช่วงเดือน ก.ย.ต่อไป
“รอบแรกก็มีพวกแบงก์ใหญ่ ๆ ที่กำลังทดสอบระบบกันอยู่ ซึ่งเดือน ก.ย.ก็คงเริ่มใช้สำหรับเปิดบัญชีธนาคารกัน เพราะตอนนี้ยังมีแบงก์ที่เข้ามาร่วม แต่อีกสักพักเมื่อมีเครดิตบูโรเข้ามา ก็จะเริ่มมีการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับการปล่อยกู้เพิ่มเติม หลังจากนั้นก็จะมีเจ้าอื่น ๆ อีก ซึ่งขึ้นกับหน่วยงานเขาจะพร้อมเข้ามาตอนไหน อย่างพวกบริษัทหลักทรัพย์ ก็อยากใช้กับการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ ก็จะตาม ๆ กันมา” ดร.อนุชิตกล่าว
ขณะเดียวกันในฟากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพิ่งมีการประชาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. …. ไป โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็ว ๆ นี้ และน่าจะทันก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งการมีกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา เพื่อช่วยให้การยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีความชัดเจนขึ้น เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับจะทำให้ขั้นตอนยุ่งยากขึ้น
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ แยกจาก พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทำไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้พอติดขัดข้อกฎหมาย ก็มีการพยายามร่างกฎหมายขึ้นมา 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งก็คือ กฎหมายฟินเทค แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการเงิน เรื่องฟินเทคโดยเฉพาะมากกว่า ส่วนอีกฉบับก็เป็นกฎหมายรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งก็แก้ปัญหาเฉพาะเรื่องการใช้บริการภาครัฐ แต่เรามาดูว่าพื้นฐานของการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด คือการพิสูจน์ตัวตน จึงได้มีการนำส่วนที่เกี่ยวข้องมาไว้ในฉบับเดียวกัน” ดร.อนุชิตกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สศค.ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.-19 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ ทาง สศค.จะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและเสนอ ครม.ต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชาพิจารณ์ อาทิ ในส่วนของนิยาม ควรเพิ่มนิยาม คำว่า “พิสูจน์และยืนยันตัวตน” ให้รวมถึง “การแสดงเจตนา การให้ความยินยอม การทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ หรือการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามความประสงค์หรือเจตนาของผู้ใช้บริการ” ด้วย เนื่องจากต้องรองรับกระบวนการต่อเนื่องในการบริการเพื่อทำธุรกรรมต่อ หรือที่เรียกว่า กระบวนการ authorization
ขณะเดียวกันมีการเสนอให้เพิ่มนิยามคำว่า “บริษัท” ให้ชัดเจนว่า หมายถึง บริษัทประเภทใดบ้าง เช่น บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด รวมถึงให้เพิ่มนิยามคำว่า “สมาชิก” โดยให้รวมหน่วยงานของรัฐเข้าไปในร่างกฎหมายด้วย
ส่วนในแง่องค์ประกอบคณะกรรมการกำกับดูแลระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มีข้อเสนอให้มีผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน อย่างน้อย 1 คนมาจากภาคเอกชน
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในประเด็นเรื่องอำนาจของคณะกรรมการในการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือ, การรับสมาชิก และการให้อำนาจหน้าที่ของบริษัทในการเข้าไปในสถานที่ประกอบการของสมาชิกเพื่อตรวจสอบมาตรฐานเทคโนโลยี ระบบรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล ที่ต้องนำมาปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไปด้วย