ดอกเบี้ยขาขึ้น… ไม่กระทบตลาดตราสารหนี้ไทย

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ศิรินารถ อมรธรรม ThaiBMA

ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างจริงจัง ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก จนนำไปสู่การโยกย้ายเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ของนักลงทุนทั่วโลก ประเทศที่เศรษฐกิจมีความเปราะบางสูงก็จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดจากเงินต่างชาติจะไหลออก

สำหรับประเทศไทย ภาคการเงินและต่างประเทศเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ธนาคารกลางจึงมีอิสระในการดำเนินดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้จะมีก็แต่ในแง่ของการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ

ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันที่ 20 ก.ค. 2561 ต่างชาติมีการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยรวม 9,210 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า1 ปี) 88,824 ล้านบาท และการไหลออกสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี) 98,032 ล้านบาท โดยการไหลออกนี้เป็นผลมาจากการปล่อยให้ตราสารหมดอายุ 110,958 ล้านบาท และการซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น 12,925 ล้านบาท

เนื่องจากการไหลออกส่วนใหญ่เกิดจากการถือจนตราสารครบอายุ ผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield) จึงมีไม่มาก ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วง 4 เดือนแรกของปี การไหลออกสุทธิของเม็ดเงินต่างชาติค่อนข้างสูง แต่ yield รุ่นอายุ 2 ปีปรับขึ้นเล็กน้อยเพียง 4 Bps. (0.04%) ในขณะที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา มีการไหลออกของเงินลงทุนต่างชาติน้อยลง แต่ yield รุ่นอายุ 2 ปีปรับสูงขึ้นมากถึง 27 Bps. (0.27%) น่าจะเป็นผลจากการที่ ธปท. เริ่มปรับเพิ่มวงเงินการประมูลพันธบัตร ธปท.มากกว่า

หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง yield ไทยและอเมริกาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ พบว่า yield ไทยทั้งรุ่นอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับตัวขึ้นน้อยกว่า yield อเมริกามาก โดย yield ไทยอายุ 2 ปี ขึ้น 32 Bps. (0.32%) ส่วน yield อเมริกาขึ้น 71 Bps. (0.71%) และ yield ไทยอายุ 10 ปี ขึ้น 22 Bps. (0.22%) ส่วน yield อเมริกาขึ้น 49 Bps. (0.49%)

นอกจาก yield และเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบไม่มากจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐแล้ว มูลค่าการออกและมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยยังขยายตัวได้เป็นปกติ ภาพรวมของครึ่งปีแรกปีนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตได้ดีด้วยมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยรวม 12.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2%

การระดมทุนของภาคเอกชนผ่านตราสารหนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวรวม 4.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือสูง (ตั้งแต่ A- ขึ้นไป) มีการออกเพิ่มขึ้นกว่า 9% ส่วนกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (ต่ำกว่า BBB- และ nonrated) จะเป็นการออกในรูปแบบของหุ้นกู้มีประกันมากขึ้น (secured)

ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าลดลง 39% ซึ่งลดลงจากทั้งภาคการผลิต 9% แบงก์และไฟแนนซ์ 55% โดยภาคการผลิตผู้ออกลดการออกตั๋ว B/E และหันมาออกเป็นหุ้นกู้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ออกกลุ่ม nonrated เป็นกลุ่มที่ออกตั๋ว B/E ลดลงมากที่สุด ส่วนผู้ออกกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือดี (สูงกว่า BBB-) มีมูลค่าการออกตั๋ว B/E ทรงตัว ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

สรุปแล้วตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลกระทบไม่มากจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีจะมีการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังเหลืออยู่ในตราสารหนี้ไทยถึง 843,819 ล้านบาท และกว่า 82% ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น real money หรือการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ใช่การเก็งกำไร นั่นเอง