ดีเดย์​ 11 ส.ค.นี้ สคฝ.ลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ​ 10 ​ล้า​นบาท

คลังชี้ครบรอบ10ปีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก  มั่นใจหลังวิกฤติศก.ปี2540​ ไทยมีภูมิคุ้มกันแกร่งขึ้น​ เตรียมลดคุ้มครองเงินฝาก​เหลือ​ 10​ ล้านบาท 11​ ส.ค.นี้​ ผอ.สคฝ.ยันไม่มีการโยกย้ายบัญชีผิดปกติ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานครบรอบ 10 ปี สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) ว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ถือเป็นเหตุการณ์ที่กระทบในลักษณะโดมิโนเอฟเฟค ทำให้รัฐบาลประกาศรับประกันเงินฝากในสถาบันการเงินทุกแห่งแก่เจ้าหนี้ได้เต็มจำนวนผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่สร้างภาระให้กับกองทุนฟื้นฟู จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันมีภาระเหลือไม่เกิน 900,000 ล้านบาท

นอกจากนี้สถาบันการเงินในระบบมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยพบว่าทั้งระบบการเงิน มีผู้ฝากเงิน จำนวน 75 ล้านราย มีเงินฝาก จำนวน 12.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 87 % ของจีดีพี รวมถึงนโยบาย Nationnal E-Payment ของภาครัฐ ที่มีประชาชนลงทะเบียนนโยบายดังกล่าว 42.6 ล้านบัญชี เงินโอน 334 ล้านรายการต่อเดือน คิดเป็นยอดเงิน 1.6 ล้านล้านบาท โดยมีการติดตั้งเครื่องอีดีซีผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 520,000 เครื่อง และใช้เงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วง 9 เดือนแรก (ต.ค.60-มิ.ย.61) จำนวน 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ร้านค้ารายย่อยที่อยู่ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ต้องการติดตั้งเครื่องอีดีซีสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นเพื่อชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดได้ เชื่อว่าไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะทำให้การลงทุนสำหรับผู้ประกอบการต่างๆในภาคอุตสาหกรรมสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าววว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2551 ตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากในสถาบันการเงิน ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองถูกปิดกิจการ โดยผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างรวดเร็วภายในวงเงินและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน และรักษาเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงินไทย

ตลอดช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สคฝ.ตระหนักดีว่าความเชื่อมั่นของผู้ฝากถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ จึงได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การจ่ายคืนผู้ฝากให้ สคฝ.จ่ายเงินฝากคืนภายใน 30 วัน โดยผู้ฝากไม่ต้องมายื่นคำขอ การพัฒนาระบบข้อมูลรายผู้ฝาก และการพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก

“ทศวรรษที่ 2 ของ สคฝ. ถือเป็นภารกิจแห่งความท้าทาย เพราะเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการเงินและระบบเศรษฐกิจที่จะอิงฐานข้อมูลดิจิทัล จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของผู้เกี่ยวข้องกับระบบการเงินของไทย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในทั่วโลก ดังนั้น การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการฝากเงิน และใช้บริการสถาบันการเงิน ยังเป็นพันธกิจที่ สคฝ. ยึดมั่น เพื่อรักษาเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงินไทย” นายกฤษฎากล่าว

นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า หลังจากนี้ทาง สคฝ.จะลดการคุ้มครองวงเงินฝากตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2561-10 ส.ค.2562 เหลือการคุ้มครองวงเงินที่ 10 ล้านบาทต่อ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน จากปัจจุบันที่ได้รับการคุ้มครองวงเงินที่ 15 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผู้ฝากที่มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ 98.2% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด ทาง สคฝ.ได้มีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มีความผิดปกติมาก แต่ก็ยังมีสถาบันการเงินเล็กๆบางส่วนที่มีวงเงินฝากต่ำลงจากการโยกย้ายในการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีนัยยะสำคัญ

สำหรับการคุ้มครองวงเงินฝากในระยะต่อไป ช่วงวันที่ 11 ส.ค.2562-10 ส.ค.2563 จะได้รับการคุ้มครองวงเงินที่ 5 ล้านบาท และวันที่ 11 ส.ค.2563 เป็นต้นไป จะได้รับการคุ้มครองวงเงินที่ 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีสถานะกองทุนรวม จำนวน 120,000 ล้านบาท รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆที่จะต้องนำส่งเงินฝากให้กับสคฝ. จำนวน 1,100-1,200 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 0.01% ต่อปี รวมถึงการบริหารจัดการด้านการลงทุนของ สคฝ.มีจำนวน 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนของ สคฝ.โตตามสภาพ ราว 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ สคฝ. เตรียมตั้งเป้าหมายในระบบให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดภายในระยะเวลาอีก 2 ปี เพื่อสอดรับกับสถาบันการเงินต่างๆที่เข้าสู่ระบบเทคโนโลยีมากขึ้น