เงินบาทกลับมาอ่อนค่าหลังผลการประชุมเฟด

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

“เงินบาทกลับมาอ่อนค่าหลังผลการประชุมเฟด ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทกลับมาอ่อนค่าช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สอดคล้องกับเงินหยวนและเงินในภูมิภาค สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังแถลงการณ์หลังการประชุมเฟดหนุนโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบหน้าเดือนก.ย. นอกจากนี้ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ก็ช่วยหนุนการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ ก่อนตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (3 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.33 เทียบกับระดับ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (26 ก.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศ น่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของไทย ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ เครื่องชี้เงินเฟ้อที่สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทิศทางความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,712.09 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.60% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 3.10% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 54,744.98 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 444.57 จุด เพิ่มขึ้น 1.70% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ด้วยแรงหนุนจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ประกอบกับในช่วงปลายสัปดาห์ มีแรงหนุนเพิ่มเติมในหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันโลกกลับมาฟื้นตัวขึ้น ถึงแม้ว่า ในช่วงระหว่างสัปดาห์ ดัชนี SET จะต้องปรับตัวลดลงในช่วงสั้นๆ ท่ามกลางแรงกดดันจากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,700 และ 1,685 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,720 และ 1,735 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค.ของจีน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2561 ของญี่ปุ่น และดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของอังกฤษ