ฟันธง กนง.ยืนดอกเบี้ย 8 ส.ค. จับ 3 สัญญาณก่อนขยับขึ้น

จากผลประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบ31 ก.ค.-1 ส.ค. 2561 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75-2.00% ถือเป็นไปตามคาด ทั้งระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ซึ่งตลาดก็คาดว่าเฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งคือ รอบประชุมเดือน ก.ย. และ ธ.ค. 2561 นี้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า ภาวะที่ดอกเบี้ยสหรัฐกำลังเคลื่อนไหวเข้าใกล้ neutral rate ทำให้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดปีหน้ายังคลุมเครือ ในทางกลับกันมีความเป็นไปได้สูงที่ทางการไทย (ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.) จะเริ่มปรับสมดุลนโยบายการเงินก่อนสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ได้เริ่มปรับสมดุลนโยบายการเงิน จากการออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ประเภท 3 เดือน และ 6 เดือน ให้เข้าสู่ระดับ “ปกติ” หลังจากที่เดือน เม.ย. 2560 ได้ประกาศปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น 2 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ เพื่อสกัดเก็งกำไรของต่างชาติในเวลานั้น

ขณะที่ ธปท.ถูกจับตามองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อไหร่ แน่นอนว่าในรอบการประชุม 8 ส.ค. 2561 คนในตลาดเงินตลาดทุนคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่า ผลประชุมยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ไม่มีเซอร์ไพรส์ แต่สิ่งที่พวกเขาอยากได้จาก กนง.คือ การสื่อสารที่ชัดเจน เพราะล่าสุด ธปท.แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.ค่อนข้างดี ทำให้เห็นภาพรวมของการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2

ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อ กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า เดือน ก.ค.อยู่ที่ 1.46% เฉลี่ย 7 เดือนแรกอยู่ที่ 1.04% ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ระดับสูง แต่ดัชนีอาหารสดยังหดตัว ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีนี้จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 1.3% ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า กนง.คงไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวเพิ่ม เพราะเงินหยวนอ่อนค่าไปเรื่อย ๆ ทำให้ราคาสินค้าในโลกตกลง เนื่องจากจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ รวมถึงกำลังซื้อในไทยเองก็ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น

“ถึงจุดหนึ่ง เรามองว่าเงินเฟ้อจะไม่มา กำลังซื้อในประเทศก็ไม่ได้ดี ตอนนี้ที่โต โตเพราะการส่งออก ดูพนักงานบริษัท เงินเดือนไม่ได้ปรับขึ้น ฉะนั้นเงินเฟ้อจะมาจากไหน”

ภาพรวมปีนี้เศรษฐกิจไทยยังมีโมเมนตัมค่อนข้างดี เพราะการส่งออก การท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะแผ่วลง ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกหากเฟดขยับขึ้นดอกเบี้ยฯก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ กนง.อาจพิจารณาปรับขึ้นตามได้

“ตอนนี้ไตรมาสแรกเศรษฐกิจโต 4.8% ถ้าไตรมาส 2 ออกมา 4% กว่า ครึ่งปีแรกโต 4.5% ถ้าทั้งปีโต 4.2% ตามที่คาดไว้ ครึ่งปีหลังจะโต 3% ปลาย ๆ ถ้ามีการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก จากการตอบโต้ทางการค้า การส่งออกของไทยก็จะแผ่วลง หรือล่าสุด ธปท.ก็ห่วงเรื่องเรือล่มที่ภูเก็ต จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนอาจมาน้อยลง”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สิ่งที่กำลังติดตามดูการสื่อสารของ กนง. คือ สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.จะมองอะไรก่อนขยับขึ้น ซึ่งจะมี 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.มุมมองต่อเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นแบบไหน 2.การเติบโตของเศรษฐกิจไทย กระจายตัวแล้วหรือไม่ และ 3.ทิศทางค่าเงินบาท กนง.คิดอย่างไร

“เรามองว่าขณะนี้เศรษฐกิจยังโตไม่ทั่วถึง กำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากคนระดับกลางและบน และยังมีความเสี่ยงด้านรายได้เกษตรกรที่อยู่ระดับต่ำ ด้านเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นก็เป็นผลมาจากฝั่งอุปทาน คือ ราคาน้ำมัน ไม่ใช่มาจากฝั่งการใช้จ่ายบริโภค ส่วนค่าเงินบาท ตอนนี้อ่อนค่าก็ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออก และยังช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวอยู่ในตอนนี้ ซึ่งบาทอ่อนก็เป็นเรื่องที่ดี จึงคิดว่าคงไม่น่าส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมาสกัดค่าเงินบาทแน่ เรายังมองว่าการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยน่าจะชัดเจนในปลายปีนี้ และจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้ในไตรมาสแรกปีหน้า” นายอมรเทพกล่าว

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นายอมรเทพมองว่า เศรษฐกิจยังโตไม่ทั่วถึง โดยจุดที่ยังน่าเป็นห่วงคือ การบริโภคของคนระดับล่างยังไม่ดีนัก เพราะรายได้กลุ่มเกษตรกรไม่ได้เร่งตัวแรง ดังนั้น ภาครัฐยังต้องประคับประคองกลุ่มคนมีรายได้น้อยอยู่ ด้านการลงทุนของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ก็ยังชะลอตัวอยู่ แต่ว่ามีสัญญาณการลงทุนของภาคเอกชนที่ดีขึ้น

“เรามองว่าจีดีพีไตรมาส 2 คาดเติบโต 4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ปรับฤดูกาล) โต 0.5% ตัวฉุดเป็นการลงทุนของโครงการภาครัฐและการใช้จ่ายระดับล่าง” นายอมรเทพกล่าว

แต่ครึ่งปีหลังนี้ก็มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะยืดเยื้อหรือไม่ และจะขยายวงกว้างไปถึงประเทศอื่นหรือไม่ อีกปัญหาคือน้ำเต็มในเขื่อนของไทยที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วม จะกระทบต่อผลผลิตของภาคเกษตรได้ ซึ่งจะซ้ำเติมกลุ่มนี้ด้านกำลังซื้อหายอีก ส่วนเรื่องนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาได้หรือไม่ หลังเกิดเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต ดังนั้นไตรมาส 3 นี้จึงต้องระวัง


แต่ไตรมาส 4 จะมีปัจจัยเสริมจากการคาดหวังเห็นการเลือกตั้งที่ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 4.3% แต่คงยังไม่เห็น กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีนี้ คงจะเริ่มพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสแรกปีหน้า