“วิรไท” กำชับผู้บริหารสถาบันการเงินวางมาตรการป้องกันภัยไซเบอร์อย่างเท่าทัน

วิรไท สันติประภพ
แฟ้มภาพ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการดูแลผลกระทบจากภัยไซเบอร์ ว่า สถาบันการเงินและทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเท่าทันในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างกว้างขวาง โดยต้องมีเครื่องมือที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อทันต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆที่เกิดขึ้น และกฎหมายที่ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้ตอบสนองเหตุการณ์ต่าง ๆได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำงานร่วมกันกันของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างน้อย 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ที่กำกับดูแลนโยบาย เช่น ธนาคารกลาง สำนักงานคณะกรรมการกกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ผู้ให้บริการในภาคสถาบันการเงิน และนักวิชาการ เพื่อร่วมกันบริหารความเสี่ยงจากการที่เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบการเงินสามารถตอบโจทย์ความต้องการในระบบเศรษฐกิจและสังคมอนาคตได้ดีขึ้นจากเดิม

“ความท้าทายในอนาคตคือต้องเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ยังไม่นิ่ง และรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงใหม่ ๆที่มากับการเปลี่ยนแปลงนั้น ภัยทางด้านไซเบอร์ที่ถึงแม้จะทำไปมากพอสมควร แต่ยังต้องทำอีกเยอะ เพราะเป็นคนที่ก่อการร้ายก็คิดใหม่ ๆทุกวันและหานวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นเราต้องสร้างกำแพงอย่างเท่าทัน ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว อีกเรื่องที่สำคัญคือกรอบกฎหมายต่าง ๆที่จะต้องปรับปรุงให้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่เพียงระบบการเงินเท่านั้น ยังเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆด้วย และเชื่อมกับผู้ให้บริการในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆด้วย เช่น โทรคมนาคม โทรศัพท์ที่อาจจะสำคัญไม่น้อยกว่าสาขาของธนาคาร” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า กรณีที่ข้อมูลของ 2 ธนาคารถูกเจาะนั้น ถือเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ในประเทศแต่เกิดขึ้นทั้งโลก และไม่เฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น ธนาคารต่าง ๆจึงต้องมีระบบที่เท่าทันและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการทดสอบระบบของไทย โดยผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าธนาคารทั้งสองแห่งสามารถตอบสนองได้อย่างเร็วในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไป ทั้งยังมีระบบที่จะเข้าไปตรวจสอบระบบอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง ธนาคารต่างสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้

“เราทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ต้องทำให้ดีมากขึ้น เพราะความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้จะมีมากขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องพร้อมรับกับภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งเราได้กำชับกับสถาบันการเงินว่ามาตรการป้องกันด้านภัยไซเบอร์เป็นเรื่องสำคัญ ช่วงปีที่ผ่านมา ธปท.ได้เชิญกรรมการสถาบันการเงินมาหารือเรื่องนี้ไม่ใช่ด้านไอทีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องนโยบายระดับสูงของกรรมการสถาบันการเงินที่จะต้องให้ความสำคัญ โดยทุกสถาบันการเงินจะต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอ มีแผนตอบสนองภัยไซเบอร์และมาตรการเยียวยาลูกค้าในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น” นายวิรไทยกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อสถาบันการเงินอย่างมาก เห็นได้จากการตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของสถาบันการเงินที่เริ่มเปิดตัวเครื่องมือและระบบการให้บริการทางการเงินต่างๆออกมา เช่น ระบบพร้อมเพย์ หรือระบบการเงินต่างๆที่สามารถช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และสามารถทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ธนาคารต่างๆยังทยอยออกแอปพลิเคชั่นมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับธนาคารหลังจากที่ธนาคารได้รับผลกระทบจากการลดค่าธรรมเนียมขึ้น อย่างไรก็ตามการที่สถาบันการเงินต่างๆ เตรียมเครื่องมือใหม่ๆให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนั้น ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆตามมาด้วย เช่น ด้านภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยและประเทศในเอเชียมีความต้องการลงทุนมากขึ้น ก็ทำให้เผชิญกับความเสี่ยงที่ต่างไปจากเดิมอีกด้วย

“การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมีผลอย่างมากต่อระบบการเงิน เนื่องจากทำให้ความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ภัยไซเบอร์ เกิดขึ้นตามมาด้วย ดังนั้น ผู้ที่จึงจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายจะต้องรู้เท่าทันในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยต้องเห็นความร่วมมือในหลายหน่วยงาน และมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆในอนาคตได้เป็นอย่างดี” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว