สศค.ชูผลศึกษา “แก้จน” ตรงจุด อัพเกรดเฟส 3 เข้าถึงครอบครัว-ชุมชน

ในปีนี้ งานสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หรือ FPO Symposium 2018 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 ได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “ยกเครื่องข้อมูล ยกคนพ้นจน” ขึ้น

โดยนักวิชาการรุ่นใหม่ของ สศค. ได้แก่ “ภารดี นาคสาย” “พงศกร แก้วเหล็ก” และ “ดร.กุสุมา คงฤทธิ์” ได้นำเสนอแนวทางการลดความยากจน “อย่างตรงจุด” ขึ้นมา จากกรณีศึกษาของต่างประเทศ ได้แก่ บราซิลและจีน โดยเฉพาะจีนที่ประสบความสำเร็จในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สามารถลดจำนวนคนจนลงได้กว่า 700 ล้านคน

ทั้งนี้ ผลศึกษาชี้ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดทำโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไป ถือว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่ทำให้ภาครัฐมีข้อมูลเชิงลึกของผู้มีรายได้น้อยแบบ “รายบุคคล” อย่างไรก็ดี ยังมีความจำเป็นต้อง “ยกเครื่องข้อมูล” ด้วยการขยายฐานข้อมูลไปเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านอื่น ๆ อาทิ ด้านความจำเป็นพื้นฐานทั่วไป โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทย

ด้านสุขภาพเชื่อมโยงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้านประเภทบุคคล อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ เชื่อมโยงกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้านการศึกษา เชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ และด้านพฤติกรรมและความต้องการของผู้มีรายได้น้อยที่เป็นข้อมูลของกระทรวงการคลัง

ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลจะทำให้รัฐบาลได้รับทราบปัญหาของผู้มีรายได้น้อยใน “หลากหลายมิติ” มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอผลงานวิชาการชิ้นนี้ กลุ่มผู้ศึกษาชี้ว่า การจัดสวัสดิการของไทยในอดีตไม่ตรงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากนัก จึงได้เสนอแนะให้ใช้ “มาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยอย่างตรงจุด” และให้จัดสวัสดิการโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน 2 รูปแบบคือ “เงินโอนให้แก่ผู้มีรายได้จากการทำงาน (working cash transfer) และการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT rebate) ซึ่งคล้ายกับกรณีที่ประเทศสิงคโปร์ใช้ลดผลกระทบของการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (goods and services tax : GST) โดยการให้ GST vouchers แก่ประชาชน”

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะ “แนวทางการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระยะถัดไป” เพราะมองว่าลำพังการให้บัตรสวัสดิการและการฝึกอาชีพ อาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้พ้นจนได้อย่างยั่งยืน จึงต้องยกระดับครอบครัวและชุมชนด้วย

ขณะที่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง บอกว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้ โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 11.4 ล้านรายไปแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการเติมเงินเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้ถือบัตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และตามด้วยมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อช่วยยกระดับรายได้

“เราไม่ได้จะเติมให้เขา (ผู้มีรายได้น้อย) ไปตลอด เพราะเราไม่ต้องการให้เขาจนตลอดชีพ เราต้องการให้เขามีรายได้มากขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองได้ นั่นคือหัวใจ เราถึงมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเหล่านี้เป็นเฟส 2 ขึ้นมาแต่ก็อย่างว่า คนลงทะเบียนและได้บัตรทั้งหมด 11.4 ล้านคน แต่ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครว่าอยากพัฒนาตัวเอง และเอาเข้าจริง ๆ มีคนพร้อมพัฒนาตัวเองแค่ 4 ล้านคนเท่านั้น แต่ก็ยังดี เพราะถ้าเราพัฒนาคน 4 ล้านคนให้พ้นจนได้ ก็ตกประมาณ 30-40%” นายอภิศักดิ์กล่าว

รมว.คลังบอกด้วยว่า จะดำเนินการ “วัดผล” มาตรการที่ได้ดำเนินการไปในช่วงปลายปี 2561 นี้ ว่าสามารถช่วยให้คน “พ้นจน” ได้มากน้อยขนาดไหน

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังกำลังเตรียมจัดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้แก่ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยวางเป้าไว้ว่าจะดำเนินการในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 2561) ซึ่งวงเงินที่จะคืนให้แต่ละรายนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน7,000 บาท/คน/ปี

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะยกเว้นค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการ จากโครงการบัตรทองที่จะต้องจ่าย 30 บาท โดยจะประสานกับทางกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งน่าจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเร็ว ๆ นี้

“ในระยะยาว การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย อาจจะไม่จำเป็น ถ้าเราสามารถรันบิ๊กดาต้าได้ทั้งหมด ก็จะสามารถแยกแยะผู้มีรายได้น้อยได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเกิดจากข้อมูลการใช้จ่าย การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ การเช่าบ้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะสามารถประมวลเพื่อช่วยเหลือได้อย่างมีโฟกัสมากขึ้น” รมว.คลังกล่าว

ด้าน “สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า นโยบายแก้ปัญหาความยากจน ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ ถือว่ามีแนวคิดที่ดี และมีความพยายามที่ดี แต่จะประสบความสำเร็จแค่ไหน ยังต้องรอดูต่อไป โดยตนก็มีข้อเสนอแนะว่า ควรจะมีการขึ้นทะเบียนบ่อยขึ้น (ทำได้ตลอดเวลา) ทำกระบวนการให้ง่ายขึ้น และมีการตรวจสอบข้อมูลตลอดเวลา

ขณะที่ในกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดจะคืนภาษี VAT ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการนั้น ตนเห็นว่า น่าสนใจดี และยิ่งหากสามารถนำไปสู่การปรับขึ้นภาษี VAT ได้ในระยะข้างหน้า จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

“ต่อไปก็จะตอบโจทย์ได้ ว่าคนจนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้น VAT เพราะมี VAT rebate ให้ ก็จะขึ้น VAT ได้ เพราะตอนนี้เราจำเป็นต้องขึ้น VAT ไม่อย่างนั้นประเทศจะมีปัญหาเรื่องรายได้มาก” นายสมชัยกล่าว

คงต้องติดตามต่อไปว่า ข้อเสนอจากงานวิชาการ จะผลักดันไปสู่การออกมาตรการแก้จน เฟส 3 ในทางปฏิบัติได้เมื่อใด และมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว จะประสบผลสำเร็จแค่ไหน จากที่จะมีการประเมินผลช่วงปลายปีนี้