เศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวราว 6.7% ปรับลงเล็กน้อยจาก 6.8% ในไตรมาสแรก ภาคบริการขยายตัวดีขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนชะลอตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการส่งออกก็ยังคงขยายตัวใช้ได้ (ขยายตัว 11% ในไตรมาส 2) และดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งทางการค้ายังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเท่าใด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องระวัง โดยส่วนใหญ่กังวลว่าหากสหรัฐดำเนินการขึ้นภาษีสินค้าตามที่ทรัมป์ได้ประกาศไว้ (สินค้าจีนที่ USTR กำลังดำเนินการสอบสวนมีมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ผลกระทบอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจจีนเสี่ยงต่อการชะลอตัวลงแรง

สำหรับตลาดการเงินของจีนนั้น ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีความผันผวนและปรับตัวลงอย่างมาก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความกังวลเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เพิ่มมากขึ้น โดยดัชนีราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลง 12% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (และปรับลงเกือบ 20% นับจากจุดสูงสุดของปีในช่วงปลายเดือนมกราคม) ส่วนค่าเงินหยวนก็อ่อนตัวลงจากกลางเดือนมีนาคมที่ระดับ 6.27 หยวนต่อดอลลาร์ มาเป็น 6.81 หยวนต่อดอลลาร์ หรืออ่อนตัวลงเกือบ 9% ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะประสบภาวะชะลอตัวอย่างมาก หรือจะเกิดภาวะเงินทุนไหลออกซึ่งเป็นจุดเปราะบางของเศรษฐกิจจีนดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในครึ่งหลังของปี 2015 และต้นปี 2016

นอกจากนี้ ภาวะหนี้ของบริษัทและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนที่อยู่ในระดับสูงก็ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อลดการก่อหนี้ ทำให้บริษัทและรัฐบาลท้องถิ่นที่ก่อหนี้เกินตัว เกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและหนี้สินได้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้แล้วกว่า 20 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านหยวน ถึงแม้ว่าจำนวนที่ผิดนัดชำระหนี้จะยังต่ำ คือไม่ถึง 1% ของมูลค่าตลาดรวม แต่ปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่อนค่าของเงินหยวน ตลาดหุ้นปรับลดลง ดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งความขัดแย้งทางการค้าที่ยังมีต่อเนื่อง ทำให้ความเสี่ยงของหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น

จะเห็นว่าภาพเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันนั้น แม้ตัวเลขการขยายตัวดูจะมีเสถียรภาพ แต่เศรษฐกิจภายในมีความเสี่ยงอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มากกว่าคาดในครึ่งหลังและในปีหน้าจากปัญหาการค้ากับสหรัฐ การอ่อนค่าของเงินหยวนและภาวะเงินทุนไหลออก รวมทั้งการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทที่ก่อหนี้เกินตัว

รัฐบาลจีนเองก็คงมองภาพความเสี่ยงดังกล่าว จึงจะเห็นได้ว่าในช่วงเดียวกันนั้นรัฐบาลเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดลงอย่างต่อเนื่อง นับแต่การชะลอการปรับดอกเบี้ยตามสหรัฐ เพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน ปรับลดการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก และล่าสุดประกาศนโยบายผ่อนคลายทางการคลัง โดยจะปรับลดภาษีให้กับบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาวงเงินรวม 65,000 ล้านหยวน เพิ่มเติมจากแผนเดิมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มูลค่า 1.65 ล้านล้านหยวน (ประกาศไปเมื่อเดือนมีนาคม) ซึ่งจะเห็นว่าในครั้งนี้รัฐบาลจีนรีบดำเนินการผ่อนคลายมาตรการ แต่ข้อสังเกตคือ นโยบายการผ่อนคลายทำอย่างระมัดระวัง และทำบางกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะกังวลว่า ถ้าผ่อนคลายมากไปอาจจะทำให้การก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ปัจจัยลบที่จะมีผลต่อจีน 2 ประการในช่วงต่อไป คือ ยังไม่มีวี่แววว่าสหรัฐและจีนจะเจรจากันเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ทั้งนี้ สหรัฐมีแนวโน้มจะประกาศรายการสินค้าจีนที่จะถูกเก็บภาษี 25% อีก 16,000 ล้านเหรียญใน 1-2 อาทิตย์ข้างหน้า และ ยังมีรายการสินค้าที่กำลังดำเนินการสอบสวนที่จะเก็บภาษี 10% อีก 2 แสนล้านเหรียญ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้

ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ประการน่าจะทำให้นักลงทุนหวั่นไหวและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและค่าเงินหยวนได้

ความผันผวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นและค่าเงินหยวนของจีนจะส่งผลกระทบต่อเอเชียค่อนข้างมากเนื่องจากจีนมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ คือเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ อุปโภคบริโภค และสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งการท่องเที่ยว

ดังนั้น ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนจึงกลายเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัว และเกิดความผันผวนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และค่าเงินตามไปด้วย