นักลงทุนเข้าถือดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลประเด็นการค้าโลก

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 7 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/8) ที่ระดับ 33.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (6/8) ที่ระดับ 33.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ภายใต้ความวิตกกังวลในความไม่ราบรื่นของกระบวนการ Brexit ขณะเดียวกันทำเนียบขาวประกาศว่าสหรัฐ จะรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรต่อภาคการเงินและอุตสาหกรรมของอิหร่าน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันนี้ และถือเป็นมาตรการรอบแรกก่อนที่สหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรรอบ 2 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะพุ่งเป้าไปยังการทำธุรกรรมของธนาคารกลาง การส่งออกน้ำมันและการขนส่งสินค้าทางเรือของอิหร่าน สำหรับประเด็นของการกีดกันทางการค้า นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอย่างใกล้ชิด หลังจากที่จีนขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนจะดำเนินการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวหากสหรัฐยังคงเดินหน้าจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจับตาดูผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ (กนง.) ของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (8/8) โดยตลาดคาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ทีี่ 1.50% แต่สิ่งที่ตลาดให้ความสำคัญในรอบการประชุมที่ผ่าน ๆ มาคือ มติในการออกเสียง ซึ่งในครั้งนี้ตลาดคาดว่าจะคงดอกเบี้ยด้วยเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ โดยคณะกรรมการที่มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบที่ผ่านมา ให้เหตุผลว่าการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร ดังนั้นการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงบ้างในภาวะปัจจุบันจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.24-33.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการคเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/8) ที่ระดับ 1.1562/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/8) ที่ระดับ 1.1558/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เมื่อวานนี้มีการเปิดเผย ยอดสั่งซื้อสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประจำเดือนมิถุนาย ปรับตัวลง 4.0% จากที่ขยายตัว 2.6% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัวเพียง 0.5% ซึ่งนับเป็นสถิติรายเดือนที่ปรับตัวลงมากที่สุดในรอบปี โดยปัจจัยหลักที่ฉุดการขยายตัวมาจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่หดตัวลง 4.7% และคำสั่งซื้อในประเทศที่ลดลง 2.8% สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันทางการค้าโลกเริ่มกระทบการส่งออกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเยอรมนีและยูโรโซน ทั้งนี้อีกประเด็นที่ส่งผลต่อการค้าของยูโรโซนคือ Brexit โดยวานนี้นายฟ็อกซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของอังกฤณระบุว่า อังกฤษมีโอกาสสูงขึ้นที่จะไม่มีการทำข้อตกลง Brexit เนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) มีท่าทีที่ไม่ต้องการประนีประนอมกับอังกฤษ ทั้งนี้นายฟ็อกซ์กล่าวว่าโอกาสที่อังกฤษจะประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลงนั้นอยู่ที่ “60-40” ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1548-1.1593 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1585/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหฟวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/8) ที่ระดับ 111.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/8) ที่ 111.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวแคบ ๆ อยู่ในกรอบ เนื่องจากไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ขณะที่ตลาดจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในวันศุกร์นี้ (10/8) ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.24-111.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่น (8/8), ยอดนำเข้า ยอดส่งออกและดุลการค้าของจีน (8/8), อัตราเงินเฟ้อของจีน (9/8), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (9/8), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2 ของญี่ปุ่น (10/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (10/8), ดุลการค้าของอังกฤษ (10/8) และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2 ของอังกฤษ (10/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.25/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ