บอร์ดสลากปัดชงหวยออนไลน์ เร่งแก้พ.ร.บ.หวั่นจัดสรรเงินรางวัลป่วน

แฟ้มภาพ

คลังเร่งเข็นแก้กฎหมายสลากผ่านก่อนมีรัฐบาลเลือกตั้ง หวั่นคำสั่ง คสช.ไม่มีผลบังคับใช้ กระทบการจัดสรรเงิน ด้านโฆษกบอร์ดสลากผลักดันแก้กฎหมายเต็มที่ ชี้ช่วยเอื้อทำงาน-ออกลอตโต้ ยันบอร์ดไม่ชงทำ “หวยออนไลน์” ยุครัฐบาล คสช. ระบุเป็นเรื่องอ่อนไหวเกรงกระทบคนในระบบสลากปัจจุบัน 4 แสนคน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดเล็กน้อยในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อปรับปรุงรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางกระทรวงการคลังจะยืนยันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลับไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอได้ทันช่วงเดือน พ.ย.นี้ ก่อนที่ สนช.จะปิดรับพิจารณาร่างกฎหมายใหม่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะโฆษกบอร์ดสลาก กล่าวว่า บอร์ดสลากชุดปัจจุบันที่แต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช. จะหมดวาระไปพร้อมกับ คสช. โดยบอร์ดชุดปัจจุบันไม่มีนโยบายทำสลากออนไลน์ในช่วงรัฐบาลปัจจุบัน แต่ให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีผู้เกี่ยวข้องในระบบสลากกินแบ่งรัฐบาลปัจจุบันจำนวนมากถึง 3-4 แสนคน ดังนั้นหากจะไปเปลี่ยนทันทีทันใดคงทำไม่ได้

ส่วนร่าง พ.ร.บ.สลากฯที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ทางบอร์ดสลากตั้งใจผลักดันให้ผ่านออกมาบังคับใช้ให้ได้

“กฎหมายที่แก้ไข เราตั้งใจผลักดันให้ผ่าน เพราะถ้าไม่ผ่านจะทำให้เราทำงานยาก คือทำงานได้ แต่การจะออกลอตโต้คงลำบาก” นายธนวรรธน์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานสลากฯมีความกังวลว่า หาก พ.ร.บ.สลากฯที่มีการแก้ไขปรับปรุงไม่ผ่านความเห็นชอบ หรือมีผลบังคับใช้ไม่ทันก่อนมีการเลือกตั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อการออกสลากที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการออกสลากปัจจุบันดำเนินการภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล

ซึ่งคำสั่ง คสช.ดังกล่าวได้มีการปรับปรุงมาตรา 22 เพื่อจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลใหม่ แบ่งเป็น 60% จ่ายเป็นเงินรางวัล อีกไม่น้อยกว่า 20% ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วนอีกไม่เกิน 17% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และอีก 3% เป็นเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม จาก พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 เดิมที่จัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก โดย 60% เป็นเงินรางวัล อีกไม่น้อยกว่า 28% เป็นรายได้แผ่นดิน และอีกไม่เกินกว่า 12% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน

อย่างไรก็ดี สำหรับในร่าง พ.ร.บ.สลากฯที่อยู่ในชั้นกฤษฎีกาในปัจจุบันนั้น ได้มีการจัดสรรวงเงินใหม่ เป็น 60% จ่ายเป็นเงินรางวัล อีกไม่น้อยกว่า 22% เป็นรายได้แผ่นดิน อีกไม่เกิน 17% เป็นค่าใช้จ่ายการบริหารงาน และ 1% เป็นเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม

“ตอนนี้มีประเด็นที่กังวลกันก็คือ ถ้ากฎหมายที่แก้ไขไม่ผ่าน คำสั่ง คสช.ที่ใช้อยู่อาจจะใช้ไม่ได้ โดยจะหมดไปพร้อมกับ คสช. ในกรณีที่มีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ หากเป็นแบบนั้นจะวุ่นวายมาก เพราะการจัดสรรเงินต่าง ๆ ตามมาตรา 22 จะกลับไปเหมือนเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่ยังติดขัดในขั้นกฤษฎีกาขณะนี้ก็คือ เรื่องกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ที่ปัจจุบันพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 บังคับใช้แล้ว จึงจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกัน และต้องชี้แจงถึงความจำเป็นที่สำนักงานสลากฯจะต้องมีกองทุนนี้ไว้ให้ได้ด้วย

“ตอนนี้กฎหมายอยู่ในขั้นกฤษฎีกา ซึ่งมีการท้วงติงเรื่องการตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อสังคม ว่าจำเป็นหรือไม่ที่สำนักงานสลากฯ จะต้องมีกองทุนนี้ไว้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการสรรหาผู้อำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่นั้น ทางบอร์ดยังคงเดินหน้าเสนอแต่งตั้ง พ.ต.ท.บุญส่ง จันทร์ศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯที่ผ่านการคัดเลือกแล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสลากฯคนใหม่ตามกระบวนการต่อไป หลังจากได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนแล้ว