“วิรไท” จี้แบงก์ลงทุนเพิ่มระบบสกัดภัยไซเบอร์ซุ่มโจมตี

ผู้ว่าการ ธปท.กำชับทุกแบงก์เข้มรับมือภัยไซเบอร์ ฟาก “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” อัดงบฯลงทุนอัพระบบไอทีต่อเนื่องรองรับจำนวนผู้ใช้แอปโตพุ่ง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา ADBI-Bank of Thailand Conference on Innovative Finance for Future Growth เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ธปท.ได้กำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังเรื่องภัยไซเบอร์มากขึ้น และต้องมีการลงทุนระบบเพิ่มความปลอดภัย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้มากขึ้น เช่น บล็อกเชนขอสินเชื่อ การเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆบนแอพพลิเคชั่น เป็นต้น รวมทั้งมีผู้เข้าใช้บริการระบบพร้อมเพย์กันจำนวนมาก จึงทำให้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นจะต้องมีการปรับระบบให้เท่าทันและตอบสนองได้เร็ซ จึงอยากให้คณะกรรมการและผู้บริหารธนาคารให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการป้องกันภัยไซเบอร์ด้วย รวมถึงการมีมาตรการดูแลลูกค้าและร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายด้วย

ขณะที่กรณีธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ถูกเจาะข้อมูลของลูกค้าเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นกันทั้งโลก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการทดสอบระบบป้องกันของไทย ทั้ง 2 แห่งก็ตอบสนองได้เร็วในการป้องกันไม่ให้ลาม และสามารถมีระบบเข้าไปตรวจสอบระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับธนาคารอื่น ๆ ว่า แฮกเกอร์เข้ามาจากช่องทางไหน

“เราทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังต้องทำให้ดีมากขึ้น จำเป็นต้องทำให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้จะมีมากขึ้นไม่ใช่เฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องพร้อมรับกับภัยไซเบอร์ เครื่องมือสำคัญ คือ เราต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาและเท่าทันภัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น” นายวิรไทกล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันการใช้โมบายแบงก์กิ้งทุกสิ้นเดือนมีปริมาณการทำธุรกรรมสูงมาก ล่าสุดีปริมาณผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งมากถึง 36-38 ล้านราย จากสิ้นปีที่แล้วมีเพียง 32 ล้านราย ซึ่งมีทั้งผู้เข้ามาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ โอน ถอน จ่าย และอีกกลุ่มเป็นผู้ที่เข้าระบบเพื่อเช็กยอด ดูข้อมูลบริการต่าง ๆ ทำให้การใช้โมบายแบงก์กิ้งหนาแน่น

“เรื่องการแฮกที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของความปลอดภัย แต่เป็นเรื่องปริมาณการทำธุรกรรม ซึ่งที่หน่วง ๆ เพราะนาทีที่ลูกค้าทำธุรกรรมแล้วสะดุด ผู้ที่รอทำธุรกรรมต่อก็แจม (ติดขัด) ต่อๆกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทุกธนาคารก็มีการทำสเตรตเทสต์กันแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทางสมาคมธนาคารไทย และ ธปท.ก็มีการกำชับว่า ทุกธนาคารจะต้องทำอะไรกันบ้าง” นายฐากรกล่าว

ขณะที่ฝั่งผู้ให้บริการคือแบงก์ ในช่วงที่ผ่านมามีการเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ แต่ไม่ได้เพิ่มกำลังการรองรับการเข้าระบบ (capacity) ตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องกลับมาดูจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร


“ในส่วนของกรุงศรีฯก็ต้องมีการลงทุนเรื่องไอทีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ประกาศใช้งบฯทำไอทีหลัก (Core IT) ไปราว 3-4 พันล้านบาท เพราะว่าล่าสุดมีลูกค้าโหลดแอปของกรุงศรีฯเพิ่มขึ้นทุกเดือน เดือนละแสนราย จนปัจจุบันมีลูกค้าโหลดแอปแล้ว 3.8 ล้านราย แต่แอ็กทีฟราว 2.5 ล้านราย” นายฐากรกล่าว