ค่าเงินบาททรงตัว นักลงทุนจับตามองตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (9/8) ที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ตึงเครียดที่คาบสมุทรเกาหลี โดยเกาหลีเหนือมีแผนที่จะยิงขีปนาวุธโจมตีเกาะกวม ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐ โดยทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เกาหลีเหนือจะต้องเผชิญกับไฟและความเดือดดาลจากสหรัฐอย่างแน่นอน หากยังคงดึงดันทำสิ่งที่เป็นภัยคุกคามสหรัฐมากกว่านี้ พร้อมเปิดเผยว่า คลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และมีอำนาจมากกว่าในอดีต โดยความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% ในไตรมาส 2 หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในไตรมาส 1 ขณะเดียวกันต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 0.6% ในไตรมาส 2 หลังจากพุ่งขึ้น 5.4% ในไตรมาส 1 นอกจากนี้นายชาร์ลส์ อีเวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำจะไม่เป็นอุปสรรคต่อเฟดในการปรับลดงบดุลจำนวน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนหน้า แต่จะทำให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงเดือนธันวาคม หรือนานกว่านั้น โดยนายชาร์ลส์ อีเวนส์ กล่าวว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เฟดจะเริ่มปรับลดงบดุลในเดือนหน้า เมื่ออิงจากข้อมูลที่ได้รับจนถึงขณะนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ต่ำลงชั่วคราว นอกจากนี้นายชาร์ลส์ อีเวนส์ ยังคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้อต่ำลงอีก เฟดก็อาจจะตัดสินใจเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปอีก ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.23-33.265 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (10/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1761/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโรแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (9/8) ที่ระดับ 1.1735/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน จากสถานการณ์ตึงเครียดที่คาบสมุทรเกาหลี นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสปรับตัวลดลง 1.1% ในเดือนมิถุนายน เทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่หดตัวลง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1711-1.1762 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1716/1.1718 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (10/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (9/8) ที่ระดับ 109.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเข้ามาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น หลังจากเกาหลีเหนือมีแผนที่จะยิงขีปนาวุธโจมตีเกาะกวมซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพแห่งหนึ่งของสหรัฐ อย่างไรก็ตามรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลง 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 7.90 แสนล้านเยน เนื่องจากภาคการผลิตชะลอตัวลง นอกจากนี้รายงานระบุว่า ความต้องการเครื่องจักรญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการส่งออกในอนาคตนั้น ปรับตัวลดลง 3.1% ในเดือนมิถุนายน สู่ระดับ 9.124 แสนล้านเยน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.84-110.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 109.86/109.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (10/8) ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐประจำเดือนกรกฎาคม (10/8) อัตราการว่างงานประเทศเยอรมนี ประจำเดือนกรกฎาคม (11/8) ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (11/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.3/-0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ