ดอลลาร์อ่อนค่า หลังประเด็นการค้าระอุ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (8/8) ที่ระดับ 33.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรับ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังถูกกดดันจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์จีนได้มีการแถลงการณ์ว่าจะมีปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเป็นอัตราภาษีที่ 25% คิดเป็นมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้า 333 รายการ รวมถึงรถยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน โดยการปรับขึ้นภาษีของจีนดังกล่าวถือเป็นการตอบโต้สหรัฐ หลังจากที่สหรัฐได้มีการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมในอัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน โดยทางการสหรัฐจะเริ่มมีผลบังคับใช้มาตรการภาษีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้เช่นเดียวกับทางการจีน ขณะที่ค่าเงินบาทเริ่มมีสัญญาณของเงินทุนไหลเข้า จากการเข้าซื้อหุ้นและตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.14-33.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.18/220 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (9/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1604/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (8/8) ที่ระดับ 1.1592/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1573-1.1619 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1592/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (9/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.83/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (8/8) ที่ระดับ 110.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ถึงแม้ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา (8/8) ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคม โดยในรายงานได้มีการระบุว่า คณะกรรมการนโยบายทางการเงินได้ตัดสินที่จะดำเนินการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้มีความย่ั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยการคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 0% ดังเดิม แต่ได้ปรับให้อัตราผลตอบแทนดังกล่าวสามารถปรับขึ้นและลด 0.25% เพื่อให้ระดับเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเคลื่อนไหวสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% แต่ทั้งนี้จากรายงานประชุมดังกล่าวส่งผลให้นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า BOJ นั้นไม่สามารถที่จะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ตามที่เคยเป้าหมายไว้ จึงได้มีการปรับลดขั้นตอนในการกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อลง และสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้เปิดเผยในวันนี้ สำนักงานคณะรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ประจำเดือนมิถุนายน ปรับตัวลง 8.8% สู่ระดับ 8,276 แสนล้านเยน (7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรดังกล่าวได้ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ลดลง 3.7% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.68-111.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 111.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (9/8) ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2 ของญี่ปุ่น (10/8) ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (10/8) ยอดดุลการค้าของอังกฤษ (10/8) และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2 ของอังกฤษ (10/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.6/-2.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ