แบงก์สกัด”หนี้เสีย”บัตรเครดิต บีบหักค่างวดผ่านบัญชีเงินเดือน

แฟ้มภาพ

แบงก์-น็อนแบงก์ตั้งการ์ดสกัดหนี้เสียบัตรเครดิต ยื่นเงื่อนไข “ลูกค้าใหม่” เซ็นยินยอมหักชำระค่างวดบัตรเครดิตผ่านบัญชี อ้างโอกาสได้รับอนุมัติสูงกว่า กสิกรฯยอมรับมีผลต่อการอนุมัติมากขึ้น เพิ่มความมั่นใจป้องกันลูกหนี้ค้างชำระ ไทยพาณิชย์เผยลูกค้าบัตรเครดิตแตะ 50% ยอมให้หักผ่านบัญชี ธปท.เผยตัวเลขหนี้เสียบัตรเครดิตไตรมาสแรกขยับขึ้นอยู่ที่ 3.15% จากสิ้นปีอยู่ที่ 2.61%

หักค่ารูดปรื๊ดผ่านบัญชีเงินเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินทั้งแบงก์และน็อนแบงก์หลายแห่งมามุ่งเน้นการชักชวนให้ลูกค้าที่ยื่นสมัครบัตรเครดิตยินยอมให้หักชำระผ่านบัญชีเงินเดือนหรือบัญชีธนาคาร เพื่อป้องกันการผิดนัดค้างชำระและนำไปสู่การเกิดหนี้เสียในอนาคต โดยระบุว่าหากยินยอมให้หักชำระผ่านบัญชีก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะผ่านการอนุมัติมากกว่าที่ไม่ให้หักผ่านบัญชี

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่ให้ลูกค้าเซ็นยินยอมให้หักชำระผ่านบัญชีนั้น ยอมรับมีผลต่อการอนุมัติบัตรเครดิตผ่านมากขึ้น เนื่องจากหากลูกค้ายินยอมให้มีการหักชำระผ่านบัญชี ธนาคารก็มีความมั่นใจว่าโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ หรือชำระล่าช้า จะมีโอกาสน้อยกว่า กลุ่มที่ไม่หักผ่านบัญชี ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อด้วยส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเครดิตผู้กู้ด้วยว่า ผ่านเกณฑ์ของธนาคารหรือไม่

หากดูตามสถิติที่ผ่านมา พบว่าลูกค้าที่ให้ตัดผ่านบัญชีจะมีโอกาสผิดนัดชำระน้อย และมีประวัติจ่ายตรงมากกว่า ซึ่งการให้แบงก์หักค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านบัญชี ก็มีผลต่อการพิจารณา เช่น สมมุติคุณสมบัติลูกค้าอยู่ตรงเส้นผ่ายาแดง แต่หากยอมให้หักผ่านบัญชี ตัวนี้ก็อาจเป็นคะแนนบวก ให้ผู้สมัครคนนั้นมีโอกาสผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารได้” นายวีรวัฒน์กล่าว

สกัดหนี้เสียบัตรเครดิต 

นายวีรวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า ฐานบัตรเครดิตของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 ล้านใบ มีราว 20-30% ที่เป็นลูกค้าที่ยอมให้หักชำระผ่านบัญชี ซึ่งสถิติกลุ่มนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่ำมาก หากเทียบกับเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.6%

อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ลูกค้าหักชำระผ่านบัญชีนั้น ต้องดูประเภทสินเชื่อด้วย เพราะกลยุทธ์แต่ละสินเชื่อมีความแตกต่างกัน เช่น สินเชื่อที่อนุมัติผ่าน machine learning หรือผ่านระบบอัตโนมัติ หรือสินเชื่อที่อนุมัติผ่านดิจิทัล กลุ่มนี้ธนาคารบังคับให้หักผ่านบัญชีอยู่แล้ว 100% เพราะกลุ่มนี้ธนาคารต้องการให้การทำธุรกรรมเกิดขึ้นบนดิจิทัลทั้งหมด ทั้งการอนุมัติ การชำระเงิน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ ยุคปัจจุบันธนาคารตระหนักดีว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่การชำระเงินผ่านดิจิทัลมากขึ้น แทนการเข้าสาขา ดังนั้น การให้หักชำระผ่านบัญชีก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้นไม่ต้องไปสาขา

สำหรับยอดการอนุมัติบัตรเครดิตของธนาคาร ปัจจุบันอยู่ที่ราว 30% ยอดอนุมัติของเคแบงก์ก็ไม่น้อยลง ไม่ใช่ว่าแบงก์สกรีนมากขึ้น และแบงก์ไม่ได้เข้มขึ้น แต่สิ่งที่พยายามทำมากขึ้น คือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจมีการจับมือกับพันธมิตรที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรของธนาคารมากขึ้น ปีนี้แบงก์ตั้งเป้าฐานบัตรใหม่ 3.5 แสนล้านบาท ครึ่งปีแรกได้มาแล้ว 2 แสนใบ

SCB ลูกค้าหักผ่านบัญชี 50%

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการผู้บริหารสูงสุด Retail Products และ Retail Payments ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนธนาคารมีการให้ลูกค้าหักผ่านบัญชีมากขึ้น โดยบัตรเครดิตมีการให้ลูกค้าหักผ่านบัญชีเกือบ 50% ของฐานบัตรทั้งหมดที่มีกว่า 2 ล้านใบ ขณะที่สินเชื่อบ้านธนาคารก็ให้ลูกค้าหักผ่านบัญชี 100%

การให้ลูกค้ายินยอมหักชำระผ่านบัญชี ส่วนหนึ่งจะทำให้แบงก์มั่นใจลูกค้ามากขึ้น เรื่องการชำระหนี้ล่าช้า ดังนั้น ก็เชื่อว่ามีผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การอนุมัติดีขึ้นหากเทียบกับเกณฑ์ปกติ

ขณะที่นายสมชัย เบญจมโภไคย ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-อนุมัติสินเชื่อ บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า การให้หักชำระค่างวดบัตรเครดิตผ่านบัญชีธนาคารนั้น มีผลต่อการอนุมัติเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่บริษัทจะนำมาพิจารณาเพื่อให้ผ่านการอนุมัติ หรือไม่อนุมัติการให้สินเชื่อ เพราะการเซ็นยินยอมให้มีการหักผ่านบัญชีนั้นจะมาจากความยินยอมจากลูกค้า ซึ่งแบงก์เองก็ไม่ได้มีการบังคับ และไม่เพียงแต่ลูกค้าใหม่ที่ให้หักชำระค่าบัตรเครดิตผ่านบัญชีธนาคาร แต่ลูกค้าเก่าก็สามารถสมัครเพื่อขอให้หักชำระผ่านบัญชีเพื่อความสะดวกของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแม้กลุ่มที่ยินยอมให้มีการหักผ่านบัญชีธนาคาร ก็ใช่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่มีหนี้เสียเลย กลุ่มนี้ก็ยังพบว่ามีหนี้เสียอยู่ เพราะการหักผ่านบัญชีนั้นต้องมีการตกลงวันที่ให้หักผ่านบัญชี ซึ่งหากวันที่กำหนดไม่มีเงินในบัญชีก็ไม่สามารถหักชำระค่างวดบัตรเครดิตได้ ลูกค้ารายดังกล่าวก็มีโอกาสเกิดหนี้เสียได้เช่นกัน

“อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ยอมให้มีการหักผ่านบัญชีธนาคาร ก็ใช่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่มีหนี้เสียเลย เพราะการหักผ่านบัญชีนั้นต้องมีการตกลงวันที่ให้หักผ่านบัญชี ซึ่งหากวันที่กำหนดไม่มีเงินในบัญชี หรือลูกค้าสามารถถอนเงินออกจากบัญชีก่อนวันที่กำหนด แบงก์ก็ไม่สามารถหักชำระค่างวดบัตรเครดิตได้ ดังนั้น ต้องดูที่พฤติกรรมลูกค้าด้วย โดยปัจจุบันเคทีซีมีลูกค้าที่ยินยอมให้หักผ่านบัญชีอยู่ที่ราว 8% ของลูกค้าทั้งหมด”

หนี้เสียบัตรเครดิตพุ่ง

สำหรับเกณฑ์การหักชำระค่างวดบัตรเครดิตจากบัญชีเงินเดือน บัญชีธนาคารนั้น จะมีการหักชำระขั้นต่ำตามที่บริษัทกำหนด คือ 10% ของวงเงินที่ต้องชำระ ซึ่งหากลูกค้าต้องการชำระเกินวงเงินก็สามารถชำระเพิ่มเติมได้ทางโมบายแบงกิ้งหรือที่สาขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลของบัตรเครดิต พบว่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อไตรมาส 1/2561 เอ็นพีแอลบัตรเครดิตขึ้นมาอยู่ที่ 3.15% ของสินเชื่อจาก 2.61% ในไตรมาส 4 ปี 2560 ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในกลุ่มบัตรเครดิต พบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.95% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเช่นกันหากเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนที่ 1.93%