ยูโรร่วงท้ายสัปดาห์ ดอลลาร์แข็งค่ากลับ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 6-10 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (6/8) ที่ระดับ 33.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (3/8) ที่ระดับ 33.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนโดยปรับตัวแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ จากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ต่ำกว่าที่ีคาดออกมา โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะใช้แนวทางอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนั้น ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาทางการเมืองเช่นกัน โดยนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เรียกร้องให้อิหร่านยอมรับข้อเสนอในการเจรจากับสหรัฐ ไม่เช่นนั้น อิหร่านจะได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยนายจอห์นกล่าวว่า หากกลุุ่มผู้นำของอิหร่านต้องการยุติแรงกดดันนี้ พวกเขาควรจะมาเจรจากัน โดยจะไม่มีการผ่อนคลายแรงกดดันลงในขณะที่ช่วงการเจรจาต่อรองยังดำเนินอยู่ และอิหร่านควรรับข้อเสนอจาก ปธน.ทรัมป์ ในการเจรจาต่อรองที่ต้อบการให้อิหร่านยกเลิกโครงการขีปนาวุธ และอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว มีผลบังคับใช้เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ ซึ่งตั้งเป้าหมายไปที่อุตสาหกรรมโลหะ ถ่านหิน ซอฟต์แวร์ และรถยนต์ของอิหร่าน นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังถูกกดดันจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์จีนได้มีการแถลงการณ์ว่าจะมีปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เป็นอัตราภาษีที่ 25% คิดเป็นมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้า 333 รายการ โดยการปรับขึ้นภาษีของจีนดังกล่าวถือเป็นการตอบโต้สหรัฐ หลังจากที่สหรัฐได้มีการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมในอัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน โดยทางการสหรัฐ จะเริ่มมีผลบังคับใช้มาตรการภาษีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้เช่นเดียวกับทางการจีน

สำหรับประเทศไทย นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 1 เสียงดังกล่าวเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี โดย กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีแนวดน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวดน้มใกล้เคียงกับที่ กนง.ประเมินไว้ โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในกรอบเป้าหมาย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.12-33.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในที่ระดับ 1.1564/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาด (3/8) ที่ 1.1575/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าหลังสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (ยูโสแตต) เปิดเผยในวันศุกร์ (3/8) ว่า ยอดค้าปลีกของ 19 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมิถุนายน เทียบกับเดือนพฤษภาคม และเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบรายปี โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับยูโรโซนคงที่ที่ระดับ 54.3 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งต่อมาในช่วงเย็นวันจันทร์ (6/8) ค่าเงินยูโรก็อ่อนค่าลงอีกครั้ง หลังจากที่สำนักงานสถิติรัฐบาลกลางของเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีหดตัวลงมากเกินคาดในเดือนมิถุนายน โดยลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง ซึ่งบ่งชี้ว่า โรงงานในเยอรมนีอาจจะชะลอการผลิตในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ สัญญาเพื่อสั่งซื้อสินค้าที่ “ผลิตในเยอรมนี” ลดลง 4.0% ในเดือนมิถุนายน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2017 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงถึงสัญญาณความตึงเครียดทางการค้าที่กระทบเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากการอ่อนค่าของค่าเงินปอนด์ จากความกังวลว่าการเจรจา Brexit อาจไม่เป็นไปตามแผน รวมทั้งจากค่าเงินลีราตุรกีสูญเสียมูลค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จากความขัดแย้งหลายเรื่องระหว่างรัฐบาลอังการากับรัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศ “ไม่ได้ข้อสรุป” จากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการร่วมกันที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ความตึงเครียดว่ามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอีกสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1430-1.1628 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1468/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 111.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (3/8) ที่ระดับ 111.72/73 เยน/ดอลลาร์ เงินเยนได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสหรัฐ และประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากจีนเสนอที่จะเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐ โดยในวันพุธที่ผ่านมา (8/8) ได้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคม โดยในรายงานได้มีการระบุว่า คณะกรรมการนโยบายทางการเงินได้ตัดสินที่จะดำเนินการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้มีความยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยการคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 0% ดังเดิม แต่ได้ปรับให้อัตราผลตอบแทนดังกล่าวสามารถปรับขึ้นและลด 0.25% เพื่อให้ระดับเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเคลื่อนไหวสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% แต่ทั้งนี้จากรายงานประชุมดังกล่าวส่งผลให้นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า BOJ นั้นไม่สามารถที่จะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ตามที่เคยมีเป้าหมายไว้ จึงได้มีการปรับลดขั้นตอนในการกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อลง และสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้เปิดเผยในวันนี้ สำนักงานคณะรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ประจำเดือนมิถุนายน ปรับตัวลง 8.8% สู่ระดับ 8.276 แสนล้านเยน (7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.59-111.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 10.93/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ